×

กลัวเป็นทวิราช บ่ตริป้องอยุธยา

12.04.2024
  • LOADING...
กลัวเป็น ทวิราช บ่ตริป้อง อยุธยา

ภาพล้อการเมือง ‘แมลงวันสยามติดกับดักใยแมงมุมอังกฤษ’ เป็นภาพโปสต์การ์ดหายากของฝรั่งเศส พิมพ์เมื่อปี 1902 (พ.ศ. 2445) แสดงพระพักตร์ของกษัตริย์ เอ็ดเวิร์ดที่ 7 ของอังกฤษ เป็นแมงมุมยักษ์ชักใยล่อแมลงวันให้มาติดกับดักของตน โดยมีแมลงวันสยาม (เลข 5) เป็นเหยื่อติดอยู่ด้วย

 

 

​กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งอังกฤษ สืบทอดนโยบายไล่ล่าอาณานิคมจากรัชกาลก่อน เพื่อขยายและรักษาฐานเมืองขึ้นที่มีอยู่ทั่วโลก ดังที่อังกฤษได้รับการขนานนามว่า เป็นดินแดนที่ ‘พระอาทิตย์ไม่ตกดิน’

 

​หลังจากอังกฤษครองอินเดียแล้วได้เข้ายึดพม่าและมลายูอย่างย่ามใจ ขณะที่ฝรั่งเศสเข้าครองญวน เขมร และมุ่งหน้ายึดลาว โดยเล็งเห็นว่า สยามเป็นอาหารอันโอชะที่จะแย่งกันยึดครองเป็นลำดับต่อไป

 

​พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงตระหนักถึงมหันตภัยคุกคามของนักล่าอาณานิคมตะวันตก ที่ทำสงครามรูปแบบใหม่ โดยใช้สนธิสัญญาเรือปืน แปลว่าถ้าคุยกันไม่เป็นผล ตกลงกันไม่ได้ ก็จะเอาเรือปืนเข้ายึดครองประเทศ พระองค์ทรงแต่งสำเภาไปค้าขายกับจีน จึงทรงสะสมกำไรไว้ในถุงแดงถึง 40,000 ชั่ง ทรงกำหนดให้ใช้ 10,000 ชั่ง เพื่อบำรุงพระศาสนา และ 30,000 ชั่ง ให้เก็บรักษาไว้ให้ดีเพื่อ ‘เอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง’

 

​ขณะทรงประชวรนั้นเองทรงเตือนว่า “การศึกข้างญวน ข้างพม่า เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้”

 

และแล้วหายนะภัยจากนักล่าอาณานิคมก็เป็นไปตามที่รัชกาลที่ 3 ทรงคาดหมาย อังกฤษหวังยึดครองไทยทางใต้โดยผ่านมลายู ซึ่งเป็นของอังกฤษอยู่แล้วในเวลานั้น

 

ทางภาคใต้: ประวัติศาสตร์สืบค้น บอกว่าเมื่อ 114 ปีล่วงมาแล้ว ชาวเลชื่อ โต๊ะฆีรี กับเพื่อน 5-6 คน ล่องเรือจากเกาะอาเจะห์ อินโดนีเซีย มาสู่ทะเลอันดามัน แล้วเลือกปักหลักอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ โดยพบว่าที่เกาะนี้มีน้ำจืดใต้ดินจึงเหมาะแก่การอยู่อาศัย โต๊ะฆีรีมาขึ้นบกที่จังหวัดสตูลในปี 2452

 

พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และ พล.อ. สุรินทร์ พิกุลทอง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านที่ดินและกลุ่มชาติพันธุ์ให้ข้อมูลตรงกันว่า ‘ด้วยวิเทโศบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สมุหเทศาภิบาลอพยพชาวอูรักลาโว้ย ที่อาศัยอยู่ ณ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยจัดชาวเลจำนวนหนึ่งย้ายไปตั้งรกรากอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง และเกาะราวี’

 

​ขณะที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งครอบครองแหลมมลายูในเวลานั้น กำลังสำรวจเกาะแก่งในทะเลอันดามัน เพื่อจะปักหมุดหมายควบรวมเกาะหลีเป๊ะเข้ากับแหลมมลายูนั้น ชาวเลอูรักลาโว้ยพร้อมใจกันพูดว่า ‘เป็นชาวสยาม’ นี่คือคำประกาศศักดิ์ศรีของชาวสยาม ที่ทำให้เกาะหลีเป๊ะมีอิสรภาพเหนือการยึดครองของอาณานิคมอังกฤษนับแต่นั้นมา*

 

ในขณะที่ทางเหนือ โดยเฉพาะอาณาจักรล้านนานั้น อังกฤษหวังยึดครองสยามโดยมีพม่าเป็นตัวแทน

 

​สมัยรัชกาลที่ 5 “รัฐสยามขยายอำนาจไปสู่ล้านนาอย่างจริงจัง มีการส่งข้าหลวงไปกำกับราชการ จัดเก็บภาษีเข้าส่วนกลาง ไม่ให้เจ้านายล้านนาเก็บภาษีอีกต่อไป มีการทำแผนที่กำหนดเขตแดนชัดเจน มีสำรวจสำมะโนครัวว่าใครอยู่ในบังคับสยาม ใครอยู่ในบังคับอังกฤษ มีการวางรากฐานการศึกษาและคณะสงฆ์แบบกรุงเทพฯ พัฒนาการขนส่งและคมนาคม รัฐสยามเข้าไปทำสัมปทานป่าไม้อย่างเป็นทางการเก็บภาษีได้มาก และปันเงินให้เจ้านายล้านนามากตามไปด้วย รัฐสยามกับชาวล้านนาโยงใยกลายเป็นกลุ่มชนเดียวกันด้วยวิเทโศบายสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่นั้นมา”**

 

​ท่ามกลางการคุกคามรุกล้ำของอังกฤษ ผ่านพม่าคืบมาสู่สยาม นอกจากรัชกาลที่ 5 จะเสด็จไปสร้างไมตรีกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซีย เพื่อถ่วงดุลกับชาติมหาอำนาจทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษแล้ว ในเวลาเดียวกันก็ทรงผนวกอาณาจักรล้านนาเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐสยามอย่างแยบยล หาไม่แล้วล้านนาและเชียงใหม่จะกลายเป็นแดนดินชนกลุ่มน้อยของพม่า ซึ่งในวันนี้มีสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด หาความสงบสุขไม่ได้เลย

 

​ส่วนภาคตะวันออก อีสาน และพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งรวมอยู่ในอาณาจักรของสยามในเวลานั้น รัฐสยามต้องเผชิญกับวิกฤต ร.ศ. 112 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญใน พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) ​ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ริมน้ำเจ้าพระยา ทั้งเจรจาและข่มขู่ให้สยามยอมรับเขตแดนญวนและบริเวณฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ถึงขั้นเอาเรือปืนมาปิดปากอ่าวไทย

 

​ฝรั่งเศสบังคับให้สยามตอบตกลงตามต้องการภายใน 48 ชั่วโมง ผลการเจรจาทำให้ในปีนั้น สยามเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดตามสัญญาข้อ 1 และห้ามสยามมีเรือรบ ตามสัญญาข้อ 2 สยามต้องเสียดินแดนราว 143,000 ตารางกิโลเมตร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงตรอมพระทัย ไม่ยอมเสวยพระโอสถ ทรงมีพระราชนิพนธ์บทกวีไว้ว่า

 

​​เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์​​ มะนะเรื่องบำรุงกาย

ส่วนจิตต์มิสบาย ​​​ศิระกลุ้มอุราตรึง

แม้หายก็พลันยาก ​​​จะลำบากฤทัยพึง

ตริแต่จะถูกรึง อุระรัดและอัตรา

 

​​กลัวเป็นทวิราช​​ บตริป้องอยุธยา

เสียเมืองจะนินทา​​​ บละเว้นฤว่างวาย

คิดใดจะเกี่ยงแก้​​​ ก็บพบซึ่งเงื่อนสาย

สบหน้ามนุษย์อาย ​​​จึงจะอุดและเลยสูญ ฯ

 

ในเวลานั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีให้กำลังพระทัยพระพุทธเจ้าหลวงไว้ว่า

 

ขอจงวราพาธ ​​​บรมนาถเร่งเคลื่อนคลาย

พระจิตพระวรกาย​​​ จงผ่องพ้นที่หม่นหมอง

ขอจงสำเร็จรา ​​​ชะประสงค์ที่ทรงปอง

ปกข้าฝ่าละออง​​​ พระบาทให้สามัคคี

ขอเหตุที่ขุ่นขัด ​​​จะวิบัติเพราะขันตี

จงคลายเหมือนหลายปี​​จะ ลืมเลิกละลายสูญ

ขอจงพระชนมา ​​​ยุสถาวรพูน

เพิ่มเกียรติอนุกุล​​​ สยามรัฐพิพัฒน์ผล ฯ

 

เพื่อไม่ให้ฝรั่งดูถูกได้ว่าสยามเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนที่ไม่มีอารยธรรม พระพุทธเจ้าหลวงทรงเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงประเทศขนานใหญ่ในทุกด้านไปสู่ความทันสมัย สร้างรถไฟ สร้างรถราง ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ขุดคูคลองเพื่อการสัญจรทางน้ำ สร้างถนน สร้างอาคารด้วยซีเมนต์ สร้างโรงเรียน จัดการศึกษาสมัยใหม่ เตรียมสู่การเป็นมหาวิทยาลัย จัดการปกครองในรูปเทศาภิบาล สร้างระบบไปรษณีย์ โทรเลข จ้างครูต่างประเทศมาสอนภาษา ทรงเลิกทาส ทรงให้เลิกการหมอบกราบ ทรงส่งพระบรมวงศานุวงศ์ไปศึกษาต่างประเทศ เพื่อกลับมารับใช้ชาติ ฯลฯ

 

​ทั้งหมดนี้เป็นพระปรีชาญาณเป็นไปเพื่อปฏิรูปประเทศแบบยกเครื่องใหญ่ ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่อารยประเทศ

 

​ต่อมาอังกฤษและฝรั่งเศสที่หมายจะยึดครองสยาม พระพุทธเจ้าหลวงยังทรงดำเนินยุทธศาสตร์กันชนอย่างเผชิญหน้า ด้วยการเสด็จเยือนราชสำนักต่างๆ ในรัสเซีย อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ในปี พ.ศ. 2440 และ พ.ศ. 2450 ทรงได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติจากพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย และจากพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ

 

​การเดินหมากป้องกันตนเองอย่างรู้เท่าทันเล่ห์ของเจ้าอาณานิคมสร้างผลสะเทือนไปทั่วโลก ทำให้ฝรั่งเศสและอังกฤษต้องหันกลับมาตกลงกันเองท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติที่เรียกว่า ‘ความตกลงฉันมิตร’ (Entente Cordiale) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 1904 (พ.ศ. 2447) ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส

 

ภาพถ่ายพระพุทธเจ้าหลวงกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย

 

ภาพถ่ายพระองค์คล้องพระกรกับพระราชินีอังกฤษ เสด็จนำขบวนราชวงศ์อังกฤษ พร้อมกับพระราชวงศ์

 

สองภาพนี้ปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลก ทำให้สยามประเทศได้รับการยอมรับนับถือให้มีสถานะทัดเทียมเจ้าอาณานิคม ผู้ซึ่งกลับมาแสดงน้ำใจและให้เกียรติอย่างยิ่งใหญ่ต่อพระบารมีของพระมหากษัตริย์สยาม

 

หมายเหตุ:

  • * บทความ คำประกาศหลีเป๊ะ: ‘เราเป็นชาวสยาม’ สำนักข่าวอิศรา 1 กุมภาพันธ์ 2566
  • ** นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนมีนาคม 2565

 

ภาพ: หนังสือ ‘เกิดวังปารุสก์’สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยประชาธิปไตย, วารสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2566

 

อ้างอิง: 

  • หนังสือ ‘เกิดวังปารุสก์’สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยประชาธิปไตย
  • วารสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2566
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X