ในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ มีการปรับตัวร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี หรือนับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2022 ซึ่งถูกกดดันจากมุมมองเชิงลบทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการเทขายสินทรัพย์สหรัฐฯ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง หุ้นสามัญ โดยข้อมูลจาก LSEG Lipper พบว่า ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน นักลงทุนมีการขายสุทธิพันธบัตรและหุ้นสามัญสหรัฐฯ สูงถึงระดับ 1.56 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
ทั้งนี้ สถานการณ์ข้างต้น นับเป็นผลกระทบจากแนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะแผนการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเพื่อการตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทุกประเทศคู่ค้า ที่มีการเปิดเผยรายละเอียดในวันที่ 2 เมษายน ซึ่งประกอบไปด้วยการปรับขึ้นด้วยอัตราถ้วนหน้ากับทุกประเทศคู่ค้าที่ 10.0% และมีการปรับขึ้นด้วยอัตราระหว่าง 10.0-50.0% กับราว 60 ประเทศคู่ค้า อันนับเป็นแผนการที่แข็งกร้าวกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์
อย่างไรก็ดี แม้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการด้านภาษีดังกล่าว กับราว 60 ประเทศ ที่ถูกปรับขึ้นภาษีนำเข้าด้วยอัตราเฉพาะ ยกเว้นจีน ที่มีการตอบโต้มาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ แต่กระนั้น ความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ประกอบกับมาตรการด้านภาษีดังกล่าว ที่มีแนวโน้มสร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
อีกทั้งความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อความเป็นอิสระของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลังทรัมป์ มีการโจมตี เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed สำหรับความล่าช้าในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมการให้สัมภาษณ์ของที่ปรึกษาทรัมป์ถึงความพยายามในการหาหนทางปลดพาวเวลล์
ทั้งหมดข้างต้น กดดันให้ความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐฯ ถดถอยลง เงินดอลลาร์จึงไม่ได้มีปัจจัยหนุน จากแรงซื้อในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ขณะที่พันธบัตรสหรัฐฯ มีการเผชิญกับแรงเทขาย ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ ยิ่งไปกว่านั้น มีข้อสังเกตว่า เงินดอลลาร์อ่อนไหวต่อรายงานในประเด็นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ทิศทางการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ นับเป็นแรงหนุนที่สำคัญต่อการปรับตัวขึ้นราคาทองคำ อีกทั้งความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ถดถอยลง มีส่วนทำให้ทองคำได้รับมุมมองเชิงบวกในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ที่สูงขึ้นโดยเปรียบเทียบ ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจโลกในรอบเดือนที่ผ่านมา ทองคำจึงได้รับแรงซื้อที่แข็งแกร่งเป็นอย่างมาก
ราคาทองคำสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลครั้งใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง โดยครั้งล่าสุดที่ 3,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนการปรับฐานลง จากแรงขายทำกำไร และการฟื้นตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ ตามสัญญาณเชิงบวกของสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน
อนึ่ง การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงรอบเดือนที่ผ่านมานั้น มีแรงขับเคลื่อนที่น่าสนใจอย่าง แรงซื้อทองคำที่แข็งแกร่งของนักลงทุนในสหภาพยุโรป โดยระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 18 เมษายน พบการเข้าซื้อกองทุนทองคำ (Gold ETF) สุทธิที่ราว 15.7 ตัน มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่เมื่อพิจารณานับตั้งแต่เริ่มปี 2025 ถึงวันที่ 18 เมษายน พบการเข้าซื้อ Gold ETF สุทธิ พุ่งสูงถึง 63.6 ตัน มูลค่า 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) พบว่า นักลงทุนในสหภาพยุโรปเข้าซื้อทองคำสุทธิผ่าน ETF สูงสุดในรอบ 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2022 ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า โดยระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 เมษายน 2022 พบการเข้าซื้อทองคำสุทธิที่สูงถึง 128.3 ตัน มูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถูกชี้นำจากการปะทุขึ้นของสมรภูมิรัสเซียและยูเครนในปีดังกล่าว
อย่างไรก็ดี จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของ Fed ในปี 2022 นั้น ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำจึงสูงขึ้น โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนยุโรป เนื่องด้วยในปีดังกล่าว ค่าเงินยูโรมีการปรับตัวลงต่ำกว่า 1.0000 ยูโรต่อดอลลาร์ ต้นทุนสำหรับการถือครองทองคำในสกุลเงินยูโรจึงพุ่งตัวขึ้น
ขณะที่ในปัจจุบัน นักลงทุนมีความต้องการกระจายการลงทุน โดยลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐฯ และเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ของพื้นที่อื่น ซึ่งสหภาพยุโรปได้รับความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เงินยูโรจึงได้รับแรงซื้อที่สูงขึ้น หนุนให้มีการแข็งค่าสู่ระดับสูงสุดในรอบ 41 เดือน หรือตั้งแต่เดือนพ.ย. ปี 2021
นอกจากการปรับตัวลงของค่าเงินดอลลาร์ และความถดถอยลงของความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐฯ เงินยูโรยังได้รับแรงหนุน จากมุมมองเชิงบวกในการเพิ่มการใช้งบประมาณทางการคลังของเยอรมนี และการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมของสหภาพยุโรป ซึ่งถูกประเมินว่า จะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป
ค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นเป็นอย่างมาก พร้อมกับทิศทางการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ทำให้การลงทุนทองคำเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในสหภาพยุโรป ประกอบกับในปีนี้ อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางชั้นนำ มีทิศทางปรับตัวลง หนุนมุมมองเชิงบวกด้านราคาของทองคำ ด้วยเหตุนี้ แรงซื้อทองคำอาจมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2025 แรงซื้อทองคำสุทธิผ่าน ETF ของนักลงทุนในสหภาพยุโรป มีโอกาสแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี หรือตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่มีส่วนขับเคลื่อนราคาทองคำในช่วงที่เหลือของปีนี้