×

จริงหรือไม่ที่ความโด่งดังบนโลกอินเทอร์เน็ต 15 นาทีก็เพียงพอแล้ว

27.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • ‘อยากดัง’ เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกคน ถ้าใช้คำที่ครอบคลุมความหมายมากกว่านั้นก็ต้องอธิบายว่า ความต้องการที่จะ ‘เป็นที่ยอมรับ’ ถือเป็น 1 ใน 6 ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตามทฤษฎีของแอนโทนี รอบบินส์
  • เราจะสร้างสรรค์ ไม่สร้างสรรค์ หรือบางครั้งอาจทำลายอะไรก็ได้ ขอเพียงแค่ดึงดูดความสนใจของคนในสังคม ถึงจะเป็นเวลาแค่ 15 นาทีก็เพียงพอ
  • Micro-Fame และ Nano-Fame หมายถึง การเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนจำนวนน้อย อาจแค่ในวงสังคมหนึ่งๆ ของโลกออนไลน์ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับการที่สื่อต่างๆ มีขนาดเล็กลงและถูกแบ่งย่อยมากขึ้น
  • เกมเมอร์ชาวสวีเดนที่ใช้ชื่อในโลกออนไลน์ว่า PewDiePie มีค่าตัวเฉลี่ยในปี 2016 อยู่ที่ประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ เขามีผู้ติดตามในยูทูบราว 55.6 ล้านคน

Internet Famous

การมีชื่อเสียงในยุคก่อนอินเทอร์เน็ต

     “In the future, everyone will be world-famous for 15 minutes” ในอนาคต เราทุกคนจะมีชื่อเสียงระดับโลกได้เป็นเวลา 15 นาที

     ประโยคดังกล่าวเขียนไว้ในแค็ตตาล็อกประกอบการจัดแสดงผลงานต่างประเทศครั้งแรกของแอนดี้ วอร์ฮอล ที่พิพิธภัณฑ์โมดาร์นา (Moderna Museet) กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในปี 1968 และกลายเป็นประโยคคลาสสิกที่ดังที่สุดของเขาในการคาดการณ์แนวโน้มสังคมโลกอนาคตไว้อย่างแม่นยำ หากเราได้ยินคำพูดนี้ในยุคนั้น ก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ยูทูบ เฟซบุ๊กไลฟ์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ ประโยคดังกล่าวอาจจะฟังดูเกินจริง แต่ถ้าลองคิดดูใหม่ในตอนนี้ มันไม่ได้ไกลเกินความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย

     เราอยู่ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นที่รู้จักได้โดยไม่ต้องผ่านการคัดเลือกตัวแสดงจากค่ายยักษ์ใหญ่ ไม่ต้องเป็นศิลปินที่ชนะการประกวดจากหลายเวที ไม่ต้องเป็นนักกีฬาที่ได้ถ้วยรางวัลจากการแข่งขันระดับโลก ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่ใช้สมาร์ทโฟนถ่ายตัวเองตอนนั่งกินข้าวก็อาจเป็นคนดังข้ามประเทศขึ้นมาได้ แน่นอน คุณเองก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไปแล้วจริงๆ

 

ทำไมคนเราถึงอยากมีชื่อเสียง

     เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมคนเราจึงอยากมีชื่อเสียงนัก?

     จริงๆ แล้วความ ‘อยากดัง’ เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกคน ถ้าใช้คำที่ครอบคลุมกว่านั้นก็ต้องอธิบายว่า ความต้องการที่จะ ‘เป็นที่ยอมรับ’ ถือเป็น 1 ใน 6 ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ตามทฤษฎีของแอนโทนี รอบบินส์ (Anthony Robbins) นักธุรกิจและนักพูดชื่อดังของสหรัฐอเมริกา 6 ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์นั้นคือ Certainty ความรู้สึกมั่นคง, Variety ความหลากหลาย, Significance การเป็นที่ยอมรับ, Love & Connect ความรัก, Growth ความก้าวหน้า และ Contribution การให้

     ในยุคปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อมทุกคนบนโลกเข้าหากัน มนุษย์จึงต่อยอดความต้องการของตัวเองตามไปด้วย จากต้องการเป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อน กลายเป็นต้องการเป็นที่ยอมรับจากคนหมู่มากทั้งที่ตัวเองรู้จักและไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเผลอรู้สึกดีทุกครั้งที่มีคนกดไลก์รูป มีคนกดแชร์โพสต์ของเราในเฟซบุ๊ก หรือมีคนกดติดตามในอินสตาแกรม เรามักมองหาการยอมรับในสังคมโดยไม่รู้ตัว ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่คนที่ชื่นชอบการเซลฟี หรือนำเสนอภาพลักษณ์บางอย่างเพื่อเรียกหายอดไลก์ก็ตามที

     การประสบความสำเร็จในด้านการทำงานหรือความสามารถพิเศษใดๆ ก็ตาม จะเรียกความสนใจจากสื่อต่างๆ มากขึ้น ทั้งมีสื่อมาสัมภาษณ์ มีรายการมาขอตามติดชีวิตประจำวัน รวมถึงบทความที่เผยเคล็ดลับความสำเร็จของคนเหล่านั้น สิ่งนี้ทำให้เราแทบจะแยก ‘การประสบความสำเร็จ’ กับ ‘การมีชื่อเสียง’ ออกจากกันไม่ได้เสียทีเดียว เพราะถึงแม้ ‘ความสำเร็จ’ และ ‘ชื่อเสียง’ จะไม่ใช่อย่างเดียวกัน แต่เรากลับรู้สึกว่าคุณค่าของชื่อเสียงมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันช่วยพิสูจน์ความสำเร็จบางอย่างในตัวเราได้ด้วยเช่นกัน

 

ชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป

     เมื่อเราต่างโหยหาชื่อเสียง และหามันได้ง่ายขึ้นบนโลกออนไลน์ ข้อเสียก็จะมีตามมาได้ง่ายเช่นเดียวกัน อย่างข่าวเมื่อต้นปีที่พูดถึงคู่สามี-ภรรยาชาวอเมริกันในนาม DaddyOFive พวกเขาถ่ายวิดีโอแกล้งลูกชายของตัวเองในรูปแบบต่างๆ ตามเทรนด์แพรงก์ (Prank – การแกล้งกันแบบแรงๆ) และมีผู้เข้าชมหลายล้านคน เช่น การสร้างสถานการณ์ให้ลูกชายรู้สึกผิด ทำร้ายลูกชายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ในคลิปวิดีโอบางส่วนยังแสดงภาพสองสามี-ภรรยาซื้อของขวัญให้ลูก และบอกกับลูกว่าเงินที่ใช้ซื้อสิ่งเหล่านี้คือรายได้จากการแพรงก์ที่พวกเขาทำ สิ่งนี้ส่งผลให้สังคมออนไลน์ออกมาแสดงความเห็นกันกว้างขวางว่าเป็นการบั่นทอนจิตใจของเด็ก และอาจส่งผลต่อการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ได้

     เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งคู่ตัดสินใจโพสต์วิดีโอแสดงความเสียใจ และลบวิดีโอที่มีการแพรงก์ออกทั้งหมดเพื่อรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทั้งคู่ก็ได้เสียสิทธิการดูแลบุตรทั้งสองคนของตนไปแล้ว

     อีกหนึ่งด้านมืดของโลกออนไลน์คืออิสระที่ไม่ต้องรับผิดชอบตัวตนของตัวเอง แต่ตัวตนเสมือนที่เราสร้างขึ้นและมีจำนวนเท่าไรก็ได้ต่างหากที่เป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเราไม่ได้คอมเมนต์ข้อความนั้น แต่ @jack1991 ต่างหากที่เป็นคนพิมพ์ เราไม่รู้ไม่เห็นเกี่ยวกับโพสต์นั้น เพราะ @anon1234 ต่างหากเป็นคนอัพโหลด

     ความหอมหวานข้อนี้ช่วยสร้างเส้นทางสู่ชื่อเสียงบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นทางที่ง่ายและยังสะดวกกว่าเดิม เพราะเราไม่ต้องพกความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความไม่มั่นใจ หรือข้อห้ามบางอย่างที่เคยผูกติดกับตัวตนในสังคมจริงๆ ของเราไปด้วย

     ด้วยความง่ายดายของการมีชื่อเสียงบนโลกอินเทอร์เน็ตนี้เอง เราจึงสามารถสร้างสรรค์ ไม่สร้างสรรค์ หรือบางครั้งอาจทำลายอะไรก็ได้ ขอเพียงแค่ดึงดูดความสนใจของคนในสังคม ถึงจะเป็นเวลาแค่ 15 นาทีก็เพียงพอ

 

อุตสาหกรรมเน็ตไอดอลทั่วโลก

     บุคคลที่เรามักเรียกว่าเป็น ‘เน็ตไอดอล’ หรือศัพท์อื่นๆ ที่ใช้เรียกคนที่มีชื่อเสียงจากโลกอินเทอร์เน็ต พวกเขาเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากบนโลกออนไลน์ปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต

     มีบริษัทยุคใหม่หลายรายที่ตั้งขึ้นเพื่อเจาะตลาดการทำประชาสัมพันธ์ผ่านโลกออนไลน์และสื่อโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ บริษัทเหล่านี้จะคัดเลือกบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือเน็ตไอดอลจากประเทศต่างๆ ติดต่อหาบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือบริการมาเป็นลูกค้า จับคู่คอนเทนต์ที่เหมาะสมให้เข้ากับเน็ตไอดอลที่มีผู้ติดตามตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมของตัวเอง และต่อยอดอาชีพนี้ให้เป็นอาชีพที่มั่นคงยั่งยืนในระยะยาว ยิ่งในประเทศฝั่งเอเชียที่มียอดจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียสูงลิ่ว เน็ตไอดอลชาวไทยบางคนอาจมียอดผู้ติดตามในอินสตาแกรมเยอะกว่าดาราระดับฮอลลีวูดเสียอีก

     ทางฝั่งตะวันตกเองก็มีคนดังจากอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมากมาย มีการพูดถึงคำว่า Micro-Fame และ Nano-Fame บนโลกออนไลน์มานานแล้ว ในปี 2008 New York Magazine ได้นำเสนอบทความที่ชื่อว่า ‘The Microfame Game’ พูดถึงการมีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ไว้อย่างน่าสนใจ

     Micro-Fame และ Nano-Fame หมายถึง การเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนจำนวนน้อย อาจแค่ในวงสังคมหนึ่งๆ ของโลกออนไลน์ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับการที่สื่อต่างๆ มีขนาดเล็กลงและถูกแบ่งย่อยมากขึ้น การเป็นที่รู้จักหรือมีชื่อเสียงแค่เพียงในวงสังคมใดสังคมหนึ่งจึงเป็นชื่อเสียงที่มีขนาดเล็กแบบ Micro-Fame หรืออาจจะเล็กมากถึงขนาด Nano-Fame

     ยังมีคำว่า Micro-Celebs ที่ใช้เรียกผู้ที่มีชื่อเสียงผ่านสื่อออนไลน์ อย่างเช่น ยูทูเบอร์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง คริส คร็อกเกอร์ (Chris Crocker) เจ้าของคลิปวิดีโอ Leave Britney Alone ในปี 2007 หรือคอรี เคนเนดี (Cory Kennedy) วัยรุ่นสาวชาวอเมริกันที่โดดเด่นเรื่องสไตล์ และมาพร้อมกับนามสกุลที่ทำให้คนสนใจ เป็นต้น (แม้แท้จริงแล้วเธอจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับตระกูลเคนเนดีเลยก็ตาม) ชื่อเสียงขนาดจิ๋วบนโลกอินเทอร์เน็ตเหล่านี้มักจะอยู่ได้ไม่นาน แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของคนจำนวนมากอยู่ดี

     ในบทความยังกล่าวอีกว่า Micro-Fame ช่วยลบช่องว่างของดาราและฟอลโลเวอร์ ทำให้คนมองว่าการมีชื่อเสียงเป็นเรื่องง่ายขึ้น และผู้ติดตามก็เข้าถึงคนมีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

     อุตสาหกรรมเน็ตไอดอลเติบโตขึ้นทุกวัน อีกทั้งยอดผู้เข้าชมและข้อมูลของผู้ติดตามที่เป็นกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ทำให้บริษัทที่วางกลยุทธ์ทางการตลาดหันมาให้ความสนใจกับการประชาสัมพันธ์ผ่าน Micro-Celebs เหล่านี้มากขึ้น อย่างเกมเมอร์ชาวสวีเดนที่ใช้ชื่อในโลกออนไลน์ว่า PewDiePie มีค่าตัวเฉลี่ยในปี 2016 อยู่ที่ประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ เขามีผู้ติดตามในยูทูบราว 55.6 ล้านคน ส่งผลให้บริษัทต่างๆ กล้าที่จะลงทุนจ่ายเงินค่าจ้างจำนวนไม่น้อยให้กับอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ด้วยความเชื่อมั่นในผลตอบแทนที่จะได้รับ

     หากในอนาคต การเล่นอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ไม่ใช่แค่ ‘การเล่น’ อีกต่อไป เราอาจจะต้องเริ่มหันมาให้น้ำหนักกับประเด็นนี้กันมากขึ้น สร้างจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะมันอาจกลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพในฝันที่ลูกหลานเราในอนาคตจะเอาไว้ตอบคำถามคุณครูในชั้นเรียนก็ได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising