×

ผลเรตติ้งไม่สำคัญ แต่เหตุของเรตติ้งนั้นสำคัญที่สุด

07.08.2023
  • LOADING...

ชาวตลาดการเงินมีประเด็นชวนปวดหัวอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม บริษัทเรตติ้งยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Fitch ออกมา ‘ลด’ อันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรระยะยาวสหรัฐฯ ลงจาก AAA เหลือ AA+ 

 

เกิดเป็นคำถามว่า เหตุการณ์ส่งสัญญาณอะไร และตลาดการเงินทั่วโลกควรตอบรับแบบไหน ตอบเร็วๆ ผมมองว่าการถูกลดอันดับเรตติ้งไม่สำคัญ แต่สิ่งที่ทำให้ Fitch ปรับลดเรตติ้งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องรู้ให้ทัน

 

ที่ผมมองว่าเรตติ้งไม่สำคัญ เพราะประสบการณ์และโครงสร้างของตลาดเปลี่ยนแปลงไปแล้วหลังการลดอันดับครั้งก่อน เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหุ้นทั่วโลกแม้จะลดลงแต่ก็อยู่ในกรอบ 2-4% บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี แกว่งตัวขึ้นแตะ 4.1% แต่ก็ลดกลับลงท้ายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเพียง 0.5-1.0% เทียบกับสกุลเงินหลัก แตกต่างกับการลดอันดับเรตติ้งในช่วงวันที่ 5 สิงหาคม 2011 ที่ S&P 500 ปรับตัวลงถึง 7% ยีลด์ร่วง 20bp และราคาทองบวก 100 ดอลลาร์ในสัปดาห์เดียว 

 

ความต่างนี้อธิบายได้จากหลากหลายเหตุผล เช่น หลายองค์กรการเงินปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงกฎการลงทุนตั้งแต่การลดเรตติ้งครั้งก่อน จากเดิมที่ตั้งไว้ว่าลงทุนเฉพาะตราสารระดับ AAA เปลี่ยนไปเป็นพันธบัตรรัฐบาล 

 

นอกจากนั้น Fitch ก็ไม่ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) เมื่อคงเรตติ้ง AAA ตราสารหนี้ที่ออกภายในสหรัฐฯ จึงไม่ได้รับผลกระทบ

 

รวมไปถึงจังหวะที่ใช้ในการลดอันดับ แตกต่างจากปี 2011 ที่กำลังมีปัญหาเรื่องเพดานหนี้ และรายงานเศรษฐกิจชะลอตัว ต่างจากครั้งนี้ที่ประเด็นหลักคือวินัยทางการคลังที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพดานหนี้ก็ได้รับการเลื่อนไปแล้ว ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจก็ดีกว่าคาด

 

ทั้งหมดทำให้ความสำคัญของการลดอันดับเรตติ้งครั้งนี้ ‘ไม่สำคัญ’ ไปโดยปริยาย

 

อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าเหตุของการลดอันดับเรตติ้งครั้งนี้จะส่งผลกระทบกับหลายสินทรัพย์ในตลาดการเงินระยะข้างหน้า

 

กลุ่มแรก คือดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเห็นดอลลาร์อ่อนพร้อมกับยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น

 

เพราะการลดเรตติ้งครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำว่าวินัยการคลังสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการแก้ไขเลยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังขาดดุลการคลังทุกปีเฉลี่ย 5.8% จนล่าสุด หนี้สาธารณะต่อ GDP ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 99% ปลายปี 2011 มาเป็น 121% ปลายปี 2022

 

แม้ในระยะสั้น สิ่งเหล่านี้จะทำได้แค่สร้างความกังวล แต่ระยะยาวจะเป็นจุดอ่อนของสหรัฐฯ เมื่อระดับเรตติ้งลดลง การกู้เงินจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น แค่กู้มาใช้ดอกเบี้ยหนี้เก่าก็แตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีแล้ว แต่ถ้าหยุดกู้อาจเห็นเศรษฐกิจชะลอตัวทันที กดดันเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าและเร่งเงินลงทุนไหลออก

 

กลุ่มที่สอง คือตัวแทนของดอลลาร์ หรือ Dollar Alternative ผมมองว่าทองได้เปรียบที่สุด

 

ในทางทฤษฎี การเปลี่ยนแปลงของเรตติ้งควรส่งผลให้ตลาดย้ายไปถือสกุลเงินที่เรตติ้งดีแทนที่ดอลลาร์ แต่ในทางปฏิบัติเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะระดับเครดิตมักแย่ลงพร้อมกันทั้งโลก แม้ในปี 2011 Dollar Alternative อย่างยูโรก็พบกับความเสี่ยง European Crisis ส่วนทองคำก็มักไม่ใช่คำตอบในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา

 

ครั้งนี้แตกต่างไปเนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกมีวัฏจักรที่เติบโตไม่พร้อมกันจากผลของโควิด รัฐบาลหลายประเทศใหญ่มีวินัยทางการเงินที่สูงกว่าสหรัฐฯ นอกจากนั้นปัจจุบันดอลลาร์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ 

 

ประเด็นเหล่านี้เป็นทั้งความเสี่ยงและข้ออ้างให้นักบริหารเงินทั่วโลกต้องคิดมากในการเพิ่มการถือครองดอลลาร์ในอนาคต และเป็นบวกกับสินทรัพย์ที่ไม่มีอันดับเครดิตอย่างทองคำ

 

สำหรับเงินบาทแม้จะอ่อนค่าระยะสั้น แต่แข็งค่าได้ในระยะยาว แม้จะไม่ใช่ความสัมพันธ์โดยตรง แต่ผมมองว่าการถูกลดอันดับเรตติ้งจะส่งผลต่อเงินบาทในหลายแง่มุม

 

อย่างแรกคือ มุมการเป็นสินทรัพย์เสี่ยง แม้ดอลลาร์จะมีเรตติ้งที่ลดลงก็ใช่ว่าเงินบาทจะแข็งค่าได้ทันที เนื่องจากความเสี่ยงของตลาดจะเพิ่มขึ้นทั้งระบบในช่วงสั้น สินทรัพย์เสี่ยงอย่างสกุลเงิน EM และเงินบาทมีโอกาสถูกขายก่อน

 

ในระยะกลาง ยีลด์จะเป็นตัวที่กำหนดทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าเรตติ้งทำให้ยีลด์สหรัฐฯ สูงขึ้นต่อเนื่อง (Bond Vigilantes) แต่ยีลด์ในไทยไม่ปรับตัวขึ้น เงินทุนในฝั่งดอลลาร์จะไหลมาลงทุนน้อยลงด้วยต้นทุนที่สูง ขณะที่เงินทุนในประเทศก็จะเคลื่อนไปที่ดอลลาร์ที่ผลตอบแทนดีกว่า  

 

อย่างไรก็ดี การลดเรตติ้งอาจเป็นโอกาสของเงินบาทในระยะยาว ไม่ใช่เพราะเครดิตโดยตรง แต่การเปลี่ยนแปลงนี้กำลังบอกว่าทั้งตลาดเห็นแล้วว่าดอลลาร์มีพื้นฐานที่ไม่มั่นคง ดอกเบี้ยอาจช่วยได้ แต่สุดท้ายเศรษฐกิจจะเป็นตัวกำหนด และการอ่อนค่าของดอลลาร์อาจเป็นทางออกเดียวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

  

ในมุมมองของผม อันดับเรตติ้งไม่ได้สำคัญ แต่ไม่ได้หมายความว่าพื้นฐานสหรัฐฯ แข็งแกร่ง เหตุผลของการปรับลดเรตติ้งเป็นสัญญาณเตือนว่า ถ้านโยบายเศรษฐกิจไม่เปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงินจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนครับ

 

มูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินปรับฐานเป็น 100 (%) ช่วงการลดอันดับ US Rating โดย S&P ในปี 2011 

อ้างอิง: Bloomberg และ CGS-CIMB Macro and Wealth Research

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising