×

Breaking the Cycle ประกายความหวังในวังวนทรราช

06.06.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • Breaking the Cycle เป็นภาพยนตร์สารคดีที่เก็บภาพช่วงเวลาตั้งแต่การก่อตั้งพรรค แจกใบปลิว เดินหาเสียงในวันที่ไม่มีใครรู้จัก ผสมผสานเข้ากับฟุตเทจจากเหตุการณ์ต่างๆ โดยมีธนาธรเป็นตัวละครที่คอยขับเคลื่อนเรื่องราวทั้งหมดภายในเรื่อง
  • ขณะเดียวกันก็มีบางแง่มุมที่หนังไม่สามารถใส่เข้ามาในงานของตัวเองได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น กรณีของมาตรา 112 ที่ต้องยอมรับว่า ณ ปัจจุบันได้กลายเป็นข้อถกเถียงที่ส่งผลกระทบต่อคนในสังคมถ้าใครพอจำตอนที่ประเทศไทยยังอยู่ภายใต้มาตรา 44 ได้ ก็คงจะรู้ว่ามันเป็นช่วงเวลาที่น่าอึดอัดของสังคมไทยในหลายๆ ด้าน และ Breaking the Cycle ก็สะท้อนความรู้สึกของพวกเขาออกมาผ่านภาพของป้าคนหนึ่งที่พูดว่า “ทำแบบนี้จะไม่โดนจับใช่ไหม” ซึ่งกลไกดังกล่าวก็ทำให้บรรยากาศระหว่าง ‘ความหวัง’ กับ ‘ความกลัว’ ถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจนจนแทบจะไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ

สำหรับคนที่อายุ 20 กลางๆ ค่อนไปทาง 30 ปี ภาวะการอยู่ในอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงเป็นสิ่งหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับชีวิตของพวกเขา เพราะนอกจากจะกินเวลานานถึง 10 ปี ซึ่งคาบเกี่ยวตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือการทำรัฐประหารทุกครั้งมักลงเอยด้วยการทำให้ประเทศหยุดอยู่กับที่ และการออกแบบเครือข่ายที่เรียกขานกันในแวดวงการเมืองว่า ‘ระบอบประยุทธ์’ เองก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยได้บอบช้ำกับการรัฐประหารไปมากขนาดไหน

 

หลายคนคงลงความเห็นว่า รัฐประหารในครั้งนี้ควรเป็นครั้งสุดท้ายเสียที (แม้ปัจจุบันเราอาจกำลังพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดอยู่ก็ตาม) เพราะหากสำรวจประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475-2557 ก็จะพบว่าตลอดระยะเวลา 82 ปี ประเทศไทยเผชิญหน้ากับการรัฐประหารมากถึง 13 ครั้ง! และแน่นอนว่าเมื่อคณะรัฐประหารทำสำเร็จ สิ่งที่ทุกคนทำเหมือนกันก็คือการนิรโทษกรรมให้กับตัวเอง หรือว่าง่ายๆ มันเป็นเหมือนวงจรอุบาทว์ที่อยู่คู่กับการเมืองไทยมาทุกยุคทุกสมัย เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองเหล่านั้นจะชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเท่าไร สุดท้ายก็จะถูกกล่าวหาด้วยเรื่องของคอร์รัปชันหรือข้อหาอื่นๆ จนสุดท้ายก็ลงเอยด้วยการถูกทำรัฐประหารในที่สุด

 

 

แต่สำหรับสังคมไทยที่ต้องใช้ชีวิตอยู่คู่กับระบอบประยุทธ์ การมาถึงของพรรคอนาคตใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2561 พรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นโดย 3 แกนนำอย่าง เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ป๊อก-ปิยบุตร แสงกนกกุล และ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช โดยมีเป้าหมายที่ต้องการจะนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 

ในทำนองเดียวกัน มันก็เป็นเหมือนหมุดหมายสำคัญที่หนังเรื่อง Breaking the Cycle ของ เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ และ ธนกฤต ดวงมณีพร ตั้งเอาไว้ด้วยเช่นกัน แม้ตอนเริ่มโปรโมตหนังจะถูกคนบางกลุ่มตีตราว่านี่เป็น ‘หนังของธนาธร’ หรือเป็นหนังที่ทำออกมาเพื่อ ‘อวยอนาคตใหม่’ แต่ถ้าพินิจอย่างถี่ถ้วนก็จะพบว่าแก่นแกนของมันไม่ใช่การยกยอปอปั้นถึงวีรกรรมของพรรคอนาคตใหม่ แต่เป็นการบันทึกเรื่องราวของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะจุดประกายความหวังให้กับคนในสังคม

 

 

และอย่างที่เซียนกูรูการเมืองหลายคนเคยทำนาย การที่พรรคอนาคตใหม่จะก้าวเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยถือเป็นเรื่องที่ยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะพรรคที่เดินด้วยอุดมการณ์ใช่ว่าจะเดินได้ในชีวิตจริง หลายคนจึงมองไปในทิศทางเดียวกันว่าพรรคอนาคตใหม่คงได้ สส. ไม่เยอะ เมื่อต้องแข่งกับฐานอำนาจเดิมอย่างพรรคเพื่อไทยที่ได้รับผลพวงจากการยืนอยู่ตรงหัวแถวฝั่งประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน และพรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคอนุรักษนิยมภายใต้เงาของ พล.อ. ประยุทธ์

 

แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมากลายเป็นว่า พรรคอนาคตใหม่ที่นำเสนอนโยบายที่แหลมคมกลับได้ สส. ไปมากถึง 80 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งแรก และนั่นก็กลายเป็นมหากาพย์นิติสงครามที่หลายคนจดจำมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

Breaking The Cycle เป็นหนังสารคดีที่เก็บภาพช่วงเวลาเหล่านั้นเอาไว้ตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้งพรรค แจกใบปลิว และเดินหาเสียงในวันที่ไม่มีใครรู้จัก ผสมผสานเข้ากับฟุตเทจจากเหตุการณ์ต่างๆ โดยมีธนาธรเป็นตัวละครที่คอยขับเคลื่อนเรื่องราวทั้งหมดภายในเรื่อง ถึงกระนั้นหนังก็ไม่ได้ให้พื้นที่แก่เขาเพียงคนเดียว แต่เลือกที่จะฉายภาพรวมของประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

 

ขณะเดียวกันก็มีบางแง่มุมที่หนังไม่สามารถใส่เข้ามาในงานของตัวเองได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น กรณีของมาตรา 112 ที่ต้องยอมรับว่า ณ ปัจจุบันได้กลายเป็นข้อถกเถียงที่ส่งผลกระทบต่อคนในสังคม แต่ด้านหนึ่งเราก็อาจอนุมานได้ว่า นี่คงเป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการจะนำเสนอประเด็นนี้โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการตีกรอบเนื้อหาของตัวเองให้อยู่กับการ ‘ติดตาม’ ไม่ใช่ ‘ชี้นำ’ ด้วย

 

แต่ก็ใช่ว่าหนังเรื่องนี้จะประนีประนอมกับรัฐประหารหรืออำนาจบางอย่างจนไม่กล้าที่จะนำเสนอความคิดของตัวเอง เพราะหากดูจากจังหวะในการลำดับเรื่องราวแล้วก็คงพูดได้ว่า มันไม่ใช่หนังที่เป็นกลางกับรัฐประหาร และคนทำก็คงไม่คิดที่จะเป็นกลางกับเรื่องเหล่านั้นด้วย

 

 

ถ้าใครพอจำตอนที่ประเทศไทยยังอยู่ภายใต้มาตรา 44 ได้ ก็คงจะรู้ว่ามันเป็นช่วงเวลาที่น่าอึดอัดของสังคมไทยในหลายๆ ด้าน และ Breaking the Cycle ก็สะท้อนความรู้สึกของพวกเขาออกมาผ่านภาพของป้าคนหนึ่งที่พูดว่า “ทำแบบนี้จะไม่โดนจับใช่ไหม” ซึ่งกลไกดังกล่าวก็ทำให้บรรยากาศระหว่าง ‘ความหวัง’ กับ ‘ความกลัว’ ถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจนจนแทบจะไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ

 

 

แต่ที่น่าสนใจก็คือตอนที่เรื่องราวขมวดมาถึงจุดที่มีคนนอกอย่างกลุ่ม ‘ฟ้ารักพ่อ’ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะพวกเขาทำให้พรรคอนาคตใหม่ที่ในเวลานั้นยังเป็นแค่พรรคโนเนมกลายเป็นพรรคมหาชนได้ เนื่องจากฐานเสียงส่วนใหญ่ของพรรคเป็นคนรุ่นใหม่ และที่สำคัญคือมันถูกขับเคลื่อนบนโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่บนท้องถนนเหมือนที่ผ่านๆ มา

 

ความน่าสนใจอีกอย่างของกลุ่มคนดังกล่าวคือพวกเขาบางคนไม่ใช่คนที่สันทัดทางด้านการเมืองเลย แต่การมาถึงของพรรคอนาคตใหม่กลายเป็นสิ่งที่จุดประกายการเรียนรู้ของพวกเขา ในด้านหนึ่งการเป็นนักการเมืองและการเป็นคนธรรมดาของธนาธรเลยดูเป็นเนื้อเดียวกันจนแทบจะแยกจากกันไม่ได้ ปรากฏการณ์ของพรรคอนาคตใหม่จึงไม่ได้ทรงพลังแค่เรื่องของตัวบุคคลอีกต่อไป แต่กลายเป็นกลุ่มก้อนความคิดที่อยากจะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า

 

สำหรับพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นเหมือนสิ่งแปลกปลอมในวัฏจักรการเมืองไทย การมีอยู่ของพวกเขาคงเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจหลายคนไม่อยากจะเห็น ซึ่งนั่นก็ตามมาด้วยมหกรรมการขุดรากถอนโคนพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่เปลี่ยนสูตรคำนวณ สส. เพื่อให้ สส. จำนวนหนึ่งกระจายไปยังอีก 11 พรรคเล็ก การถูกฟ้องเรื่องคดีถือหุ้นสื่อ ไปจนถึงการยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด

 

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ควรปรบมือให้กับคนทำมากที่สุดก็คือท่ามกลางเรื่องราวเหล่านั้น พวกเขาสามารถร้อยเรียงมันออกมาเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างแนบเนียน ทั้งภาพของสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา, ภาพของธนาธรที่กำลังปราศรัยหาเสียงและเล่นกับลูก, ภาพของตัวแทนภาคประชาชน-นักวิชาการ ที่พูดถึงการความอำมหิตในการเมืองไทย, ภาพความเสียใจของประชาชนและสมาชิกพรรค ทั้งหมดทั้งมวลถูกถ่ายทอดออกมาอย่างมีลูกล่อลูกชน พร้อมกับเผยแง่มุมที่หลายคนยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ทั้งในแง่ของกายภาพและความรู้สึก

 

 

ว่าไปแล้วความยากในการทำ Breaking the Cycle ก็คงจะเป็นการหาตอนจบที่เหมาะสมที่สุดให้กับมัน เพราะถ้าหนังสารคดีเรื่องนี้จบลงด้วยการที่ธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรี มันก็คงเป็นหนังที่ดูไม่ได้มีพลังอะไร แต่การที่หนังจบลงด้วยการที่เขาถูกตัดสิทธิและยุบพรรค ก็ทำให้เส้นเรื่องการล้มกระดานทางการเมืองถูกทำให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้นด้วยวิธีการใหม่ ที่เปลี่ยนจากการลากรถถังมาเป็นการใช้กฎหมายแทน และที่น่าขมขื่นคือชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่ในตอนนั้นได้ซ้อนทับกับภาพของพรรคก้าวไกลในตอนนี้ ราวกับเป็นประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับมาฉายซ้ำอีกครั้ง

 

“คุณจะส่งต่อประเทศแบบนี้ให้ลูกหลานของคุณหรือเปล่า” คำถามนี้มักเป็นคำถามที่ธนาธรถามอยู่เป็นประจำ และการทำลายระบอบที่ไม่น่าอภิรมย์นี้ก็คงไม่ใช่หน้าที่ของเขาเพียงคนเดียว สิ่งที่ Breaking the Cycle สื่อสารถึงผู้ชมไม่ใช่แค่การนำเสนอภาพของการรัฐประหารหรือประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่เป็นการตั้งคำถามไปยังคนดูว่า เราจะลุกขึ้นสู้กับวัฏจักรนี้หรือไม่ แม้จะต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีก็ตาม

 

นัยหนึ่งชื่อของหนังจึงไม่ได้หมายถึงแค่การบันทึกคลื่นลูกใหม่ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคม แต่หมายถึงการเปิดประตูบานแรกให้กับคนที่มีความฝันแบบเดียวกับพวกเขาด้วยเช่นกัน

 

Breaking The Cycle เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์ Major Cineplex, SF Cinema, House Samyan และ Doc Club & Pub

 

รับชมตัวอย่างได้ที่: https://youtu.be/tcDTBKPLotk

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising