สมมติว่าเราต้องเดินทางไปยังเมืองหนึ่ง มีสายการบินให้เราเลือกอยู่สองสายการบิน
สายการบิน A ใช้เครื่องบิน Boeing 737 MAX 9 อายุการใช้งานแค่ 2 ปี เครื่องบินใหม่มากๆ
ขณะที่สายการบิน B ใช้เครื่องบิน Airbus A320neo อายุการใช้งานสัก 10 ปี เครื่องไม่เก่า แต่ก็ไม่ใหม่
เป็นคุณ คุณจะเลือกบินสายการบินไหน?
ถ้าถามเมื่อ 7-8 ปีก่อน เราก็คงจะตอบว่าเป็นสายการบิน A เพราะเครื่องใหม่กว่า น่าจะนั่งสบายกว่า
แต่ในช่วงหลัง ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้โดยสารหลายครั้งพบว่า ผู้โดยสารมักจะเลือกบินกับเครื่องบินแบบอื่นมากกว่า Boeing 737 MAX หรือในบางครั้งมีผู้โดยสารบอกว่าเขาจะไม่บินกับเครื่องบิน Boeing 737 MAX อีกต่อไปไม่ว่าจะกรณีใดๆ ทั้งสิ้น
สิ่งนี้เกิดจากปัญหาความมั่นใจที่ Boeing 737 MAX ประสบมาหลายครั้ง ไล่ตั้งแต่การตกของ Lion Air เที่ยวบิน 610 ในอินโดนีเซีย เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2018 และอีกไม่กี่เดือนต่อมา Ethiopian Airlines เที่ยวบิน 302 ก็ประสบอุบัติเหตุตกคล้ายๆ กันในเอธิโอเปีย ซึ่งการสอบสวนในภายหลังพบว่าเป็นผลมาจากเซ็นเซอร์มุมปะทะทำงานผิดพลาด ส่งผลให้ระบบ MCAS เข้าใจว่าเครื่องกำลังร่วงหล่น จึงสั่งให้เครื่องบินปักหัวลงเพื่อเพิ่มความเร็ว ทั้งที่จริงๆ เครื่องบินยังทำงานปกติ แต่นักบินบนเครื่องไม่เคยถูกฝึกหรือรับทราบว่าระบบ MCAS จะทำแบบนี้ ซึ่งในภายหลังพบว่า Boeing ตั้งใจตั้งค่าระบบ MCAS มาเพื่อแก้ปัญหาท่าทางการบินที่เกิดขึ้นจากเครื่องยนต์ LEAP และไม่ยอมบอกหรือใส่ในคู่มือของนักบินว่ามีระบบนี้ทำงานอยู่บนเครื่องบิน 737 MAX
จากเหตุการณ์นี้ทำให้ Boeing 737 MAX ต้องถูก FAA สั่งงดบินเป็นเวลากว่า 1 ปี ในช่วงปี 2019-2020 เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
และล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2024 Boeing 737 MAX 9 ก็เกิดกรณีสูญเสียความดันในห้องโดยสารจากกรณีประตูฉุกเฉินหลุดออกมาบนสายการบิน Alaska Airlines แม้จะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับผู้โดยสารและลูกเรืออีกครั้ง จนต่อมามีการพบว่าสลักยึดประตูของเครื่องหายไปถึง 4 ตัว จนนำมาสู่การตรวจสอบสลักประตูขนานใหญ่ในทุกสายการบิน โดยในสายการบิน United Airlines ซึ่งทำการตรวจสอบ Boeing 737 MAX ทั้ง 79 ลำ พบว่าหลายลำเกิดอาการสลักประตูหลวมและต้องแก้ไขก่อนที่จะนำกลับมาบินอีกครั้ง ซึ่งยังไม่ทันไร ไม่กี่สัปดาห์ต่อมาก็พบกรณีชิ้นส่วนของ Boeing 737-800 รุ่นเก่าหลุดกลางอากาศบนเที่ยวบินของ United Airlines อีกครั้ง
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ Boeing กำลังเผชิญ หรือถ้าเรียกให้ถูกต้องก็ถือเป็นสิ่งที่ Boeing ก่อเรื่องขึ้นมาให้โลกเผชิญ ทั้งที่ Boeing เคยเป็นมือหนึ่งในโลกของอากาศยาน เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมั่นและมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย จนถึงกับมีคำพูดประโยคว่า “If it ain’t Boeing I ain’t going” หรือ “ถ้าไม่ใช่เครื่องบิน Boeing เราก็จะไม่บิน”
แต่ทุกวันนี้ ประโยคนี้อาจกลับกลายเป็น “If it ain’t Boeing I’m going” หรือ “ถ้าไม่ใช่ Boeing เราถึงจะบิน” เพราะจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้โดยสารหลายครั้ง พบว่ามีผู้โดยสารจำนวนมากที่กังวลถึงมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องบินของ Boeing โดยเฉพาะ 737 MAX บางคนถึงกับบอกว่าถ้าเป็น 737 MAX เขาจะไม่บินเด็ดขาด
สำหรับโลกของการบินแล้วนั้น ความปลอดภัยมาเป็นอันดับ 0 นั่นคือมันสำคัญยิ่งกว่าอันดับ 1 เสียอีก และความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ทุกคนในวงการการบินที่มีสติและมีความสามารถพอจะต้องยึดถือเอาไว้แทบจะยิ่งกว่าคำสอนทางศาสนา เพราะความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการบิน และความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการบินมีความปลอดภัย
แต่ถ้าปรากฏว่ามีบริษัทผลิตเครื่องบินบริษัทหนึ่งที่ใส่ระบบอะไรก็ไม่รู้เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาที่ตัวเองก่อแล้วก็ไม่ยอมบอกนักบิน หรือไปจ้างผู้ผลิตชิ้นส่วนผลิตโดยตรวจสอบคุณภาพไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือพยายามตั้งเป้าหมายในการสร้างผลกำไรสูงสุดก่อนการตรวจสอบมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัย คำถามคือใครจะกล้าบินกับเครื่องบินลำนี้
ปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อ Boeing อย่างเดียว แต่องค์กรระดับโลกอย่างองค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ FAA ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลอุตสาหกรรมการบินของสหรัฐฯ ก็ถูกตั้งคำถามเช่นกัน แม้เป็นองค์กรที่ทั่วโลกให้ความเชื่อมั่นก็ตาม
ที่ผ่านมาประเทศส่วนใหญ่แทบจะ Copy & Paste แนวทางกำกับดูแลและประกาศต่างๆ ของ FAA มาใช้แทบจะทันทีที่ FAA ออกประกาศมาเลยด้วยซ้ำ แต่จากกรณี Boeing 737 MAX นี้ FAA ถูกตั้งข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับมาตรฐานในการกำกับดูแล โดยเฉพาะตั้งแต่กรณีระบบ MCAS ที่มีการเปิดเผยว่า FAA ไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ แต่ใช้วิธีว่าจ้างวิศวกรใน Boeing เองทำการตรวจสอบเพื่อรับรองมาตรฐาน ซึ่งเมื่อผู้ผลิตทำการตรวจสอบตัวเอง แล้วใครจะมั่นใจได้ว่าการตรวจสอบจะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
ยิ่งกรณีประตูหลุดของ 737 MAX ก็ยิ่งฉายภาพอีกครั้งถึงความผิดพลาดและความหละหลวมของขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพของ Boeing ที่ว่าจ้าง Spirit AeroSystems ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของ Boeing เองก่อนจะแยกตัวออกมา เพราะพบกรณีการใช้วิธีที่ไม่ปกติในการตรวจสอบคุณภาพการผลิต ไม่ใช้เครื่องมือที่เหมาะสมและถูกต้องในการยืนยันว่าการผลิตนั้นมีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น เช่น มีการเปิดเผยว่าแทนที่จะใช้เครื่องมือตรวจสอบที่เหมาะสม พนักงานที่ Spirit AeroSystems ใช้คีย์การ์ดแบบที่เราใช้ตอนไปพักในโรงแรมในการไล่เช็กตามประตูเพื่อดูว่าประตูปิดสนิทจริงหรือไม่ หรือบางทีก็ใช้น้ำสบู่เป็นสารหล่อลื่นในขั้นตอนการติดตั้งประตูด้วยซ้ำ ซึ่งขั้นตอนพวกนี้ไม่มีทางที่จะถือได้ว่าเป็นปกติ และก็ชวนสงสัยว่า Boeing หรือ FAA ไม่เคยรับทราบหรือตรวจสอบพบเลยหรือ
ทั้งหมดนี้ฉายภาพเรื่องตลกฝืดที่สุดก็คือ องค์กรและบริษัทที่พวกเราเคยมองว่ามีมาตรฐานสูง และทุกครั้งที่พวกเขาพูดหรือทำอะไรพวกเราก็เชื่อไปโดยปริยายแล้วว่านั่นคือสิ่งที่ดีและสิ่งที่ถูกต้อง เพราะพวกเขาเคยเป็นที่หนึ่งมาตลอด กลับกลายเป็นว่าจริงๆ แล้วที่ผ่านมาเราแค่อาจไม่รู้ว่าตอนเขาทำงานจริงเป็นอย่างไร
และเรื่องนี้เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้กำเนิดการบินของโลกใบนี้ ประเทศที่ถือว่าประสบการณ์สูงสุดในโลกของการบิน เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการบินอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นประเทศที่มีมาตรฐานที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น Gold Standard ซึ่งทุกคนพยายามจะพัฒนาตัวเองไปให้ถึงจุดนั้น แต่กลับกลายเป็นว่าระบบของสหรัฐฯ เองก็พังพินาศและถูกปล่อยปละละเลยจนก่อให้เกิดปัญหาและโศกนาฏกรรมหลายครั้ง
แน่นอนว่ามันคงจะไม่ใช่ทั้งหมด เราก็ต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Boeing และผองเพื่อนเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หลายบริษัทในสหรัฐฯ ยังคงมีขีดความสามารถและมาตรฐานที่สูงพอที่เราจะมั่นใจในความปลอดภัยได้ แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ถ้าเราปล่อยปละละเลย สนแต่เงินและผลกำไร ไม่สนใจมาตรฐานและความปลอดภัย คิดแต่ว่า “ไม่เป็นไรหรอก มันไม่เกิดอะไรขึ้น เอากำไรไว้ก่อนดีกว่า ถ้าหุ้นขึ้น กำไรดี โบนัสเราก็จะดี หายนะก็จะเกิดขึ้นตามมา”
ที่หายนะที่สุดก็คือความเชื่อมั่นและน่าเชื่อถือ เพราะตัวผมเองจากที่เชื่อมั่นใจ Boeing มากๆ กลับกลายเป็นหนึ่งในคนที่ประกาศกับคนรอบข้างแล้วว่าถ้าเลือกได้จะไม่นั่ง Boeing 737 MAX เด็ดขาดไม่ว่ามันจะหรูหราหรือตั๋วราคาดีแค่ไหน ยังไงก็จะหา Airbus A320neo หรือ Embraer E195 นั่งยังจะเข้าท่าเสียมากกว่า คือแน่นอนว่าถ้าในอนาคตมีมาตรการหรือมีการตรวจสอบที่ทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยจริงก็อาจจะกลับมานั่ง เพราะสุดท้ายเราก็ไม่มีทางเลือกมากนัก แต่ตอนนี้ไม่เอาแน่ๆ
แต่ถ้าไม่มีทางเลือก และเส้นทางนั้นมีแต่ Boeing 737 MAX บินจริงๆ ผมก็จะยอม… ยอมนอนอยู่บ้านสบายใจกว่า ไม่อยากนั่งไปสวดมนต์ไปเพราะไม่รู้ว่าเดี๋ยวอะไรจะหลุดออกจากเครื่องบินอีกครับ
ภาพ: Stephen Brashear / Getty Images
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Boeing กับสารพัดปัญหา สั่นคลอนความเชื่อมั่น ผลิตเครื่องบินด้อยคุณภาพ-ไร้ความปลอดภัย
- เที่ยวบินสหรัฐฯ ยกเลิก กระทบผู้โดยสารนับหมื่น หลัง FAA ระงับใช้ Boeing 737 Max 9