×

ลึงค์นั้นสำคัญไฉน

โดย คำ ผกา
15.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • เรามักจะทึกทักเองว่าร่างกายของผู้ชายไม่ได้ถูกทำให้กลายเป็นวัตถุทางกามารมณ์เท่ากับผู้หญิง การเปิดเผยเรือนร่างของผู้ชายจึงไม่เป็นปัญหาทางศีลธรรม หรือกลายมาเป็นอันตรายต่อตัวผู้ชายเอง
  • เราเชื่อว่าผู้ชายไม่จำเป็นต้องเซ็กซี่ตามอุดมคติ หรือค่านิยมตามที่สังคมกำหนด แต่พวกเขาก็เป็นที่แย่งชิงของบรรดาผู้หญิงอยู่ดี
  • เราจึงมีแนวโน้มจะคิดว่าผู้ชายไม่มีปัญหาเรื่อง body shaming ซึ่งนอกจากลึงค์จะเป็นคำด่าแล้ว เราแทบไม่เคยสำรวจมันอย่างละเอียด เราจึงได้ยินเรื่องราวของลึงค์น้อยกว่าเรื่องของนมและโยนี
  • ลอร่า ด็อดสเวิร์ท (Laura Dodsworth) ไปถ่ายรูปผู้ชาย 100 คนพร้อมกับลึงค์ของเขา จากนั้นจึงเป็นบทสนทนาที่ทำให้รู้ว่าแต่ละลึงค์ต่างก็มีเรื่องเล่าของตนเอง

     “หน้าตัวเมีย” หรือ “ไปเอาผ้าถุงมานุ่ง” ใครยังด่าใครด้วยสำนวนเช่นนี้ในปัจจุบัน ถือว่าผู้นั้นมีทัศนคติดูถูกเหยียดหยามผู้หญิง เพราะมองว่าผู้ชายไม่พึงมีพฤติกรรมที่ขี้ขลาดตาขาว เนื่องจากพฤติกรรมเช่นนั้นเป็นพฤติกรรมของผู้หญิง

     อย่างไรก็ตามเมื่อเราเปล่งเสียงคำว่า “คว_” ออกมาสุดแรงเกิด พร้อมกับความสั่นสะเทือนในลำคอของเสียง ‘ค’ แห่ง ‘คว_’ ก็บังเกิดความไม่แน่ใจขึ้นมาว่า เหตุใดเล่าลึงค์อันเป็นของบุรุษเพศที่ยิ่งใหญ่ อยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ จึงเป็นคำปรามาสที่รุนแรงเช่นนั้น และนี่ถือเป็นการหยามหมิ่นทางเพศกันหรือไม่? ผู้ชายรู้สึกอย่างไรกับลึงค์ของตนเอง?

     โดยที่ไม่เคยถามผู้ชายสักคน เรามักจะทึกทักเอาว่าร่างกายของผู้ชายไม่ได้ถูกทำให้เกิดปัญหา (problematic) เท่ากับร่างกายของผู้หญิงใน 2 ประเด็นดังต่อไปนี้

     1. ร่างกายของผู้ชายไม่ได้ถูกทำให้กลายเป็นวัตถุทางกามารมณ์เท่ากับผู้หญิง การเปิดเผยเรือนร่างของผู้ชายจึงไม่เป็นปัญหาทางศีลธรรม หรือกลายมาเป็นอันตรายต่อตัวผู้ชายเอง ไม่ว่าผู้ชายคนนั้นจะหล่อล่ำมีซิกซ์แพ็ก หรือจะพุงพลุ้ยก็ตามที ภาพเกือบเปลือยและส่อเจตนาทางกามารมณ์ของเพศชายในหน้านิตยสารหรือในสื่อก็ไม่ถูกโจมตีว่าเป็นเหตุแห่งความเสื่อมทางศีลธรรมเท่ากับภาพวับๆ แวมๆ ของผู้หญิง

     2. เราเชื่อว่าผู้ชายไม่จำเป็นต้องเซ็กซี่ตามอุดมคติ หรือค่านิยมตามที่สังคมกำหนด หากผู้ชายร่ำรวย มีอำนาจ ต่อให้อ้วนมาก เตี้ยมาก น่าเกลียดมาก หรือต่อให้พวกเขาไม่ร่ำรวย ไม่ประสบความสำเร็จ พวกเขาก็เป็นที่แย่งชิงของบรรดาผู้หญิงอยู่ดี (ลองนึกถึงกรณีพิพาทเมียหลวง-เมียน้อย หลายกรณีที่เราแปลกใจว่า เฮ้ย พวกมึงแย่งผู้ชายคนนี้กันจริงๆ เหรอ ทั้งที่พวกเขาจะหาภรรยาสวยๆ ภรรยาเด็กๆ กี่คนก็ได้ ตรงกันข้ามผู้หญิงจะมีปัญหาว่า นมฉันเล็กไป ใหญ่ไป ตัวดำไป ขาสั้นไป จมูกแบนไป หัวนมชมพูไม่พอ ฯลฯ)

     พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ ร่างกายของผู้ชายไม่ถูก objectified ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง เท่ากับร่างกายของผู้หญิง และด้วยโครงสร้างของสังคมชายเป็นใหญ่ ร่างกายของผู้ชายก็ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้า (commodified) มากเท่ากับที่มันเกิดกับร่างกายของผู้หญิง

     เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงมีแนวโน้มจะคิดว่า ผู้ชายไม่มีปัญหาเรื่อง body shaming เราจึงไม่เคยเห็นแคมเปญ empower ผู้ชายให้รักร่างกาย รักรูปร่างของตัวเอง กล้าใส่บิกินี แม้รูปร่างจะไม่สมบูรณ์แบบ หรือแคมเปญนายแบบพลัสไซส์

     ยิ่งไปกว่านั้น ณ จุดที่สำคัญที่สุดของความเป็นชายคือ ลึงค์ นอกจากเป็นคำด่า เราแทบไม่เคยสำรวจมันอย่างละเอียด นอกจากภาพร่างคร่าวๆ ในจินตนาการว่ามันคือแท่งทรงกระบอกแท่งหนึ่ง ที่เอาเข้าจริงๆ เราอาจจะรังเกียจที่จะนึกถึงมันด้วยซ้ำ (สาบานว่า bitch เขียน!) – สุดท้ายก็ไม่แน่ใจเลยว่า เรามีมุมมองทางสุนทรียศาสตร์ต่อลึงค์อย่างไร เช่น เมื่อผู้หญิงสักคนนึกถึงลึงค์ ความงามของลึงค์แบบไหนที่กระตุ้นเร้าอารมณ์ของเธอ? ลึงค์ขาวสะอาด? ลึงค์ที่มีกลิ่นหอม? ลึงค์ที่มีหัวสีชมพู? ลึงค์ทรงกลมเหมือนหมี? ฯลฯ

     เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจึงได้ยินเรื่องราวของลึงค์น้อยกว่าเรื่องของนมและโยนี – อย่างน้อยที่สุดในเคสของโยนี การศัลยกรรมโยนีของผู้หญิงกลายเป็นประเด็นทางสังคมว่า หนังโป๊ที่ทำการรีทัชตกแต่งโยนีให้ดูดีเกินกว่าความเป็นจริง สร้างความกดดันให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ก้มลงมองโยนีของตัวเองแล้วรู้สึกว่าหน้าตาของมันไม่ได้มาตรฐาน จึงตัดสินใจไปทำศัลยกรรม หรือความคับข้องใจของผู้หญิงกับอวัยวะเพศของเธอที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นบทละคร The Vagina Monologues โดย อีฟ เอนสเลอร์ (Eve Ensler) ในปี 1996

     เรา (อย่างน้อยตัวฉันเอง) จึงเชื่อมาตลอดว่า พวกผู้ชายเขาสบายดีกับลึงค์ของเขา จนกระทั่งมารู้จักงานชื่อ Manhood: The Bare Reality โดย ลอรา ด็อดสเวิร์ท (Laura Dodsworth) (ก่อนหน้านี้เธอมีผลงานชื่อ 100 Women: Their Breasts Their Story – ผู้หญิง 100 คน: นมของพวกเธอ และเรื่องราวของพวกเธอ)

     ด็อดสเวิร์ทไปถ่ายรูปผู้ชาย 100 คนพร้อมกับลึงค์ของเขา จากนั้นจึงเป็นบทสนทนาที่เธอบอกว่า ท้ายที่สุดมันทำให้เธอตกหลุมรักผู้ชาย (พหูพจน์) และความรู้สึกนั้นมันช่างดีเหลือเกิน

     บทสนทนากับผู้ชาย 100 คน หลังจากถ่ายลึงค์ของพวกเขาทำให้เธอเห็นว่า  ลึงค์ช่างมีความแตกต่างหลากหลาย มีลึงค์ introvert มีลึงค์ extrovert – อืม… ลึงค์ introvert นี่ยังไงนะ? มันจะหุบๆ ไม่ค่อยอยากเจอคน? มีลึงค์ที่ตรง มีลึงค์ที่คดงอ มีลึงค์กลม มีลึงค์แหลม มีลึงค์ที่กระปรี้กระเปร่ามีชีวิตชีวา แล้วก็มีลึงค์ที่แบกความหดหู่สิ้นหวังเอาไว้ ที่แน่ๆ แต่ละลึงค์ต่างก็มีเรื่องเล่าของตนเอง

     บางลึงค์แบกบาดแผลบางอย่างในชีวิต เช่น การถูกล้อเลียนเรื่องลึงค์ในวัยเด็กและไม่เคยก้าวพ้นความเจ็บช้ำน้ำใจนั้นมาได้เลย

     แต่ที่แน่ๆ เธอยืนยันว่า ไม่มีลึงค์ของใครเหมือนของใครเลย ทุกลึงค์ต่างมีตัวตนของตนเอง และเธอบอกว่า “ในเมื่อคนครึ่งหนึ่งในโลกมีลึงค์ เราอย่าไปโหดร้ายกับมันนักเลย”

 

ลึงค์คนดำ

     ชายหนุ่มผิวดำบอกกับด็อดสเวิร์ทว่า สิ่งที่ young black man ต้องเผชิญคือ การถูกมองว่าเป็นแค่ sexual being แทนการเป็น human being เพราะมันมีมายาคติในหมู่คนผิวขาวว่า คนดำมีสัญชาตญาณทางเพศที่ดิบ เถื่อน ไม่ผ่านการขัดเกลามาก จึงเร้าใจกว่า พ่วงกับมายาคติเกี่ยวกับเครื่องเพศของคนผิวดำว่า ‘ดี’ กว่าคนผิวขาว ดังนั้นชายหนุ่มผิวดำในสังคมของคนผิวขาวจึงส่งสัญญะแห่งความเร่าร้อนทางเพศ และดูเหมือนจะเกิดมาเพื่อร่วมเพศ เขาเล่าว่าหลายครั้งที่ผู้หญิงผิวขาวเดินมาหาเขาในคลับแล้วบอกว่า

     “ฉันไม่เคยและจะไม่มีวันเดตกับผู้ชายผิวขาว”

     สำหรับเขามันเป็นทัศนคติที่ตอกย้ำความเป็น sexual being ของคนดำ ในเมื่อสำหรับเขาผู้ชายก็คือผู้ชายไม่ว่าคุณจะผิวสีอะไร

 

ลึงค์จิ๋ว

     ชายอายุ 58 ปี เล่าให้ด็อดสเวิร์ทฟังว่าตลอดชีวิตของเขาคือการอยู่กับความรู้สึกว่าลึงค์ของตัวเองมีขนาดเล็กผิดปกติ รู้สึกอาย รู้สึกว่าชีวิตทั้งชีวิตถูกออกแบบมาจากความกระจ้อยร่อยของลึงค์นี้ โตมาด้วยความรู้สึก ‘น้อยกว่า’ อยู่เสมอ และไม่กล้ามีเซ็กซ์ จนกระทั่งอายุ 21 ทรมานทุกครั้งที่ต้องไปใช้ห้องน้ำสาธารณะ ด้วยระแวงว่า คนอื่นจะเห็นว่าลึงค์ของเขามันจิ๋วแค่ไหน

     “ถ้าลึงค์ผมใหญ่กว่านี้ ผมคงจะสามารถเข้าไปอยู่ในโลกของพวกผู้ชายได้อย่างสบายใจกว่านี้ จะอาบน้ำในยิม จะว่ายน้ำ หรือจะซาวน่า แต่คู่รักของผมบอกว่าเธอชอบเล็กๆ มากกว่า เพราะมันไม่ทำให้เธอเจ็บ”

 

ลึงค์ทรานส์

     “ผมเกิดมาในร่างของผู้หญิง แต่ผมเป็นผู้ชาย ผมใช้เวลา 9 ปีในการหาข้อมูลเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ จนสุดท้ายตัดสินใจผ่าตัดที่เบลเยียม

     “การผ่าตัดใช้เวลา 9 ชั่วโมง และผมก็หวังว่าผมจะได้ลึงค์ในขนาดที่ถูกต้อง ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี และผมมีลึงค์ที่สมบูรณ์แบบแล้ว ตอนนี้ที่ผมต้องการคือ คนรัก และความสัมพันธ์ที่จะทำให้ผมรู้สึกมั่นใจ แต่ผมได้ทดลองไปแล้ว 1 ครั้ง ได้ถึงจุดสุดยอดด้วยลึงค์อันนี้กับผู้หญิงไปแล้วครั้งหนึ่ง”

     นี่คือบางส่วนจากลึงค์ 100 ลึงค์ที่ด็อดสเวิร์ทไปสนทนาด้วย และมันเปลี่ยนความรู้สึกที่เรามีต่อลึงค์ไปโดยสิ้นเชิง แม้มันจะไม่เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่าด้วยสังคมชายเป็นใหญ่

     ซึ่งสุดท้ายเรา – ทั้งหญิง ชาย และเพศอื่นๆ ต่างก็ถูกกดทับในทางใดทางหนึ่งจากโครงสร้างนี้ ขณะเดียวกันเราทุกคนที่ไม่สมยอมก็ต้องหาทางต่อรองกับมันในแบบต่างๆ – รวมทั้งการสนทนากับลึงค์ชิ้นนี้ด้วย

     ลึงค์เป็นสิ่งที่เราคิดไปเองว่ามันยิ่งใหญ่ มันตั้งตระหง่าน มันคือเจ้าโลก แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้จักมันอย่างที่มันเป็น และความตระหง่านง้ำก็เป็นแค่มายาคติที่ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีก

     “คว_ คว_ คว_” – ทำไมเราอยากตะโกนคำนี้ออกมาในเวลาที่เราโมโห และถึงที่สุด เรารู้จักคว_ของเราดีแค่ไหน เราเกลียดมัน รักมัน ผิดหวังในมัน ภูมิใจในมัน หรือเราไม่เคยสบตากับมันอย่างจริงจัง ไม่ต้องคิดว่าเราจะเข้าใจบาดแผลในคว_ของคนอื่นอย่างไร หรือท้ายที่สุดเราต่างก็ไม่เคยมองคว_ให้เต็มตา และเกลียดมันเสียจนอยากโยนให้ใครก็ตามที่เราขยะแขยง

 

อ้างอิง:

FYI

ลึงค์ในอุดมคติตามยุคสมัย

  • อียิปต์: หลักฐานเก่าที่พบในภาพเขียนบนกระดาษปาปิรุสเป็นลึงค์ที่ยาวมากเกินจริงจนเหมือนงู ซึ่งไม่แน่ใจว่าสะท้อนความประหลาดหรืออุดมคติ แต่ในยุคอียิปต์เด็กชายทุกคนจะถูกขลิบ
  • กรีก-โรมัน: ลึงค์ที่ใหญ่โตสะท้อนความต่ำช้า ป่าเถื่อน น่าขัน ความหื่นกระหาย ลึงค์ในอุดมคติต้อง ‘เล็ก’ เพราะมันบ่งบอกถึงการอยู่เหนือความปรารถนาอย่างหยาบทางกาย หมายถึงความละเมียดละไม และต้องไม่ขลิบ
  • อินเดีย: ของอินเดียแลดูสมเหตุสมผลมาก นั่นคือ กามาสุตรา แบ่งลึงค์ออกเป็น 3 แบบ ลึงค์กระต่าย (เล็กสุด) ลึงค์วัว (กลาง) และลึงค์ม้า (ใหญ่) คัมภีร์อินเดียเชื่อว่าไม่มีลึงค์ที่ดีสำหรับทุกคน แต่อยู่ที่ลึงค์นั้นต้องหาคู่ที่เหมาะสมกันก็จะมีความสุข
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising