×

AI เปิดโอกาสใหม่ให้ธุรกิจด้วยกลยุทธ์เศรษฐกิจอัจฉริยะ

19.04.2025
  • LOADING...

ช่วงนี้ใครๆ ก็พูดถึง AI (Artificial Intelligence) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังมาแรงแบบฉุดไม่อยู่ ต้องยอมรับว่า AI ได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันและการทำงานของเราแทบทุกด้าน ผู้เขียนขอชวนผู้อ่านมามองภาพกว้างของกลยุทธ์การนำ AI มาใช้สร้างเศรษฐกิจอัจฉริยะ หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า ผู้บริหารองค์กรจะต้องพิจารณาความพร้อมของประเทศไทยในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้วยเช่นกัน

 

กลยุทธ์เก้าประการของแผนงานสำหรับเศรษฐกิจอัจฉริยะ

 

จากรายงานเกี่ยวกับแผนงานสำหรับเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Blueprint for Intelligent Economies) ซึ่งเป็นหนึ่งในรายงานที่ถูกนำเสนอในงาน World Economic Forum 2025 ที่ผ่านมา รายงานดังกล่าวได้กำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์เก้าประการเพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมนวัตกรรม และส่งเสริมอนาคต AI ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจเองเช่นกัน กลยุทธ์ดังกล่าวครอบคลุมหัวข้อ ดังนี้

 

  1. ยกระดับศักยภาพของมนุษย์: เพิ่มความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับ AI ให้การศึกษาแบบเฉพาะบุคคลและครอบคลุมการฝึกอบรมและสนับสนุนแรงงาน การดึงดูดและรักษาความสามารถ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  2. สร้างระบบนิเวศที่ยืดหยุ่น: การลงทุนในพลังงานทางเลือกใหม่ ศูนย์ข้อมูล เครือข่ายดิจิทัลสมัยใหม่ และอุปกรณ์เพื่อให้ประโยชน์ของ AI สามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง
  3. พัฒนาโมเดล AI ที่รับผิดชอบ: การทำให้โมเดล AI ไม่มีอคติและมีจริยธรรม โดยใช้ข้อมูลคุณภาพสูงในการพัฒนา ฝึกอบรม และปรับแต่ง
  4. ส่งเสริมนวัตกรรม: การส่งเสริมการสร้างรูปแบบธุรกิจและโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ตอบสนองความต้องการในท้องถิ่นและภาคอุตสาหกรรมหลัก
  5. ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม: การทำให้เทคโนโลยี AI สามารถเข้าถึงได้ในทุกภูมิภาคและชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ
  6. เพิ่มการค้าโลก: การอำนวยความสะดวกในการค้าโลกในห่วงโซ่คุณค่า AI และการรักษาการไหลของข้อมูลข้ามพรมแดน
  7. สนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน: การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลระดับชาติและระดับภูมิภาค ผู้นำ AI ระดับโลก องค์กรธุรกิจขนาดเล็ก สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และผู้ใช้
  8. ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ: การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและอุตสาหกรรมเพื่อเร่งการพัฒนาระบบนิเวศ AI ระดับชาติที่ประสบความสำเร็จและคล่องตัว
  9. ดำเนินโครงการนำร่องเชิงกลยุทธ์: การใช้ข้อมูลเชิงลึกจากกลยุทธ์ระดับชาติที่มีอยู่และการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการนำร่องในระดับภูมิภาค

 

ในมุมมองของประเทศไทยเองจากผลการสำรวจ “ความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) สำหรับบริการดิจิทัลปี 2567” โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือ NSTDA พบว่าองค์กรในประเทศไทยส่วนใหญ่มีแผนจะใช้ AI ถึง 73.3% และมีองค์กรที่ประยุกต์ใช้ AI แล้ว 17.8% ซึ่งภาพรวมมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แม้การใช้งาน AI ในไทยยังมีจำกัด แต่ก็มีความพร้อมเฉลี่ยอยู่ที่ 55.1% คือมีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเทคโนโลยี AI และมีความเข้มแข็งด้านข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้งาน AI โดยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านนี้อยู่ที่ 65.5% ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีความพร้อมสามอันดับแรกตามผลการสำรวจคือ กลุ่มการศึกษา กลุ่มธุรกิจด้านการเงินและการค้า และกลุ่มโลจิสติกส์และการขนส่ง ในภาพรวมผู้เขียนเห็นว่ายังไม่สายเกินไปที่ภาคธุรกิจของไทยจะเริ่มนำเทคโนโลยี AI มาใช้สร้างการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินงาน และการเติบโตอย่างยั่งยืน 

 

เทรนด์ AI ในวงการการเงินและการรายงานทางการเงิน

 

จากรายงาน Global AI in Finance ของเคพีเอ็มจี ปี 2567 เผยว่าเกือบสามในสี่ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจได้ใช้ AI ในกระบวนการรายงานทางการเงินแล้ว โดยภูมิภาคอเมริกาเหนือ เอเชียและแปซิฟิก และยุโรป มีความก้าวหน้ามากที่สุด โดยในกลุ่มตลาดอุตสาหกรรม บริษัทในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น มีการนำ AI มาใช้ในกระบวนการรายงานทางการเงินอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่มีจีนและอินเดียเป็นผู้นำด้านการใช้ AI 

 

ผู้เขียนเชื่อว่า AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการทางการเงินอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการวางแผนทางการเงิน การจัดการคลัง การจัดการความเสี่ยง และการดำเนินงานด้านภาษี ซึ่งการนำ AI มาใช้ในกระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทสามารถจัดการหนี้สิน การคาดการณ์กระแสเงินสด การตรวจจับการทุจริต และการประเมินความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น

 

เพิ่มคุณภาพงานด้วยเทคโนโลยี AI 

 

ไม่เพียงแต่ธุรกิจเท่านั้นที่ต้องปรับตัว หลายองค์กรแม้กระทั่งบริษัทสอบบัญชีและที่ปรึกษาธุรกิจอย่างเคพีเอ็มจีเองก็ได้นำ AI มาใช้ช่วยให้ทีมงานสามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพและแม่นยำยิ่งขึ้น โดยเรายึดหลักการ Trusted AI เน้นความปลอดภัยของข้อมูล และธรรมาภิบาลของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ตัวอย่างการนำ AI มาใช้ในเคพีเอ็มจี เช่น ในการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินที่มีความซับซ้อน ความสามารถของ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล ช่วยระบุธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง และช่วยประเมินความเสี่ยงได้ตรงจุดมากขึ้น ตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องการบริการที่รวดเร็ว มีคุณภาพ ให้ข้อมูลเชิงลึก และนำเสนอมุมมองใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการ ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ภาคธุรกิจและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับความถูกต้องและโปร่งใสของข้อมูลทางการเงิน  

 

ข้อแนะนำสำหรับการเริ่มนำ AI มาใช้ในองค์กร

 

สำหรับท่านที่เพิ่งเริ่มต้นและยังไม่แน่ใจว่าจะนำ AI มาช่วยงานจุดไหน หรือควรเริ่มใช้งานอย่างไรดี ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการเตรียมความพร้อม โดยเริ่มต้นจากการที่ผู้นำองค์กรต้องเข้าใจในเทคโนโลยี และตระหนักถึงศักยภาพของเทคโนโลยี AI รวมถึงมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการนำ AI มาใช้งาน โดยไม่ลืมที่จะคำนึงถึงปัจจัยเรื่องความเสี่ยงและการกำกับดูแลการใช้งาน AI ภายในองค์กร ผู้นำต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของทีมงาน ฝึกอบรมพนักงานให้มีทักษะที่จำเป็นเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดรับนวัตกรรมจะช่วยผลักดันให้ทีมงานมีไอเดียใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร และหากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม การใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก เช่น บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี ก็ยังเป็นอีกทางเลือกที่ดีที่จะช่วยให้การนำ AI มาใช้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

 

ข้อสรุป

 

เทคโนโลยี AI เป็นเรื่องใหม่ และเต็มไปด้วยความท้าทายในการนำมาปรับใช้ในองค์กร ผู้เขียนเห็นว่า การบูรณาการ AI เข้ากับการดำเนินงานและกระบวนการทำงานเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่น ผู้นำองค์ควรมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน โดยนอกจากจะให้ความสำคัญในเรื่องเทคโนโลยีแล้ว ต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงเรื่องคน ทักษะใหม่ที่จำเป็น โครงสร้างข้อมูลและระบบที่จำเป็น รวมทั้งการวางแผนรับมือกับความท้าทายและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วย ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยี AI จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการ

 

ภาพ: Moor Studio / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising