×

นโยบายการเงินโลกกับแรงกดดันทางการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศในปี 2025

23.11.2024
  • LOADING...

นโยบายการเงินปี 2025 เป็นความหวังสำคัญของนักลงทุนแทบทั้งตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปรากฏว่าเป็น Donald Trump ได้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง ทิศทางการค้าและการเมืองโลกจะถูกปั่นป่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสูง การตอบสนองของธนาคารกลางจะมีความสำคัญเป็นพิเศษ ธนาคารกลางจะเลือกเดินทางไหน และสินทรัพย์ทางการเงินจะตอบรับอย่างไร เป็นเรื่องที่เราต้องร่วมกันคิดและแชร์ให้ทุกคนเข้าใจพร้อมกัน

 

เริ่มต้นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตลาดคาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงไปถึงระดับ 3.75-4.00% ท่ามกลางกระแสกดดันทั้งบวกและลบ

 

Fed ให้เหตุผลของดอกเบี้ยขาลงรอบนี้ว่าเป็นการลดเพื่อช่วยเศรษฐกิจ เมื่อการว่างงานเริ่มปรับตัวขึ้นโดยที่เงินเฟ้อกำลังเคลื่อนตัวกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2.0%

 

นโยบายการเมืองที่ปั่นป่วนอาจทำให้ Fed หวั่นใจในประเด็นเงินเฟ้อมากที่สุด อย่างไรก็ดี ผมมองว่านโยบายการเมืองของ Trump โดยรวมมีความผสมผสาน

 

เช่นกำแพงภาษีหรือการกีดกันทางการค้าสามารถหนุนให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นได้จริง แต่ในทางกลับกัน นโยบายลดจำนวนผู้อพยพก็อาจสร้างความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวถึงถดถอย กดเงินเฟ้อลงได้เช่นกัน

 

ตลาดบอนด์ดูจะเห็นด้วยกับผม เมื่อยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ผันผวนตลอดปี กลับมาปิดใกล้ระดับปลายปีที่แล้วที่ 4.3% สะท้อนว่าเศรษฐกิจอาจไม่มีอะไรผิดคาด

 

มีแต่ตลาดหุ้นที่มอง Trump เป็นบวกมาก สะท้อนความหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ปัจจุบันมี Long-Term Earning Yield (LTEY) ของ S&P 500 ลดลง (เพราะหุ้นขึ้น) เหลือเพียง 2.8% ใกล้จุดต่ำปลายปี 2021 ก่อนตลาดปรับฐาน

 

สิ่งที่ Fed อาจต้องเตรียมตั้งรับคือการเมืองจะผันผวนจนเจาะฟองสบู่การเงินสหรัฐฯ แตกหรือไม่ แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ผมเชื่อว่ามีโอกาสสูงที่ Fed จะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเข้าช่วยอย่างรวดเร็ว

 

ธนาคารกลางที่สองธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องเตรียมพบกับเศรษฐกิจยุโรปที่ชะลอตัวและคาดว่าจะถูกการเมืองโลกกดดันมากที่สุด อาจต้องลดดอกเบี้ยลง 100-125 bps

 

IMF คาด การเติบโตของ GDP ในยูโรโซนในปี 2025 จะขยายตัวแค่ 1.2% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะลดลงต่ำกว่า 2.0% การกลับมาของ Trump จะยิ่งทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจแย่ลง

 

เพราะถ้าการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เกิดขึ้นจริง จะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจยุโรปที่พึ่งพาการส่งออกสูง ขณะที่การกลับมาของ Trump ยิ่งเป็นการตอกย้ำกระแสการเมืองทั่วโลกที่แต่ละประเทศต้องป้องกันผลประโยชน์ของชาติตัวเองก่อน สวนทางกับแนวคิดหลักของยูโรโซนปัจจุบัน

 

นอกจากนั้นประเทศในฝั่งยุโรปก็มีกำหนดการเลือกตั้งรออยู่ในปีหน้ามากมาย เช่น เยอรมนีในเดือนกุมภาพันธ์, ฟินแลนด์ในเดือนเมษายน และโปแลนด์ในเดือนตุลาคม ผมมองว่า ECB ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อประคองเศรษฐกิจและเสริมสร้างความสามัคคีในกลุ่มประเทศยูโรโซน

 

ด้วยการขยายตัวเศรษฐกิจที่ต่ำ ผมมองว่าดอกเบี้ยนโยบาย (ECB Deposit Facility Rate) ที่ 3.25% ในปัจจุบันสามารถลดลงได้ถึง 1.75-2.0% และเงิน EUR มีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปซื้อขายในระดับใกล้เคียงกับ USD

 

ด้านธนาคารกลางเอเชียอย่างธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ถูกคาดหวังว่าจะเป็นปีที่ขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75-1.00% ได้สักที แต่การเมืองที่อ่อนแออาจทำให้ความเข้มงวดจำเป็นต้องลดลง

 

BOJ คาดว่าเงินเฟ้อในญี่ปุ่นจะอยู่ในระดับ 1.5-2.0% ในปี 2025 เพียงพอที่จะเข้มงวดทางการเงินเมื่อไรก็ได้

 

แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ต่างจากยุโรปที่มีความท้าทายจากการกลับมาของ Trump เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงสุดอันดับ 5 นโยบายภาษีที่พุ่งเป้าไปที่การปรับสมดุลการค้าจะเพิ่มแรงกดดันต่อภาคส่งออกของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์

 

ขณะเดียวกันการเมืองในประเทศของญี่ปุ่นก็กำลังลำบาก หลังพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) สูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐอาจเกิดขึ้นช้า และมีความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป

 

อย่างไรก็ดี ฝั่งตลาดการเงินดูจะไม่มองแบบนั้น บอนด์ยีลด์ญี่ปุ่นอายุ 10 ปีคงปรับตัวขึ้นตามยีลด์สหรัฐฯ ล่าสุดซื้อขายใกล้เคียงระดับสูงสุดของปีที่ 1.1% ขณะที่เงิน JPY แกว่งตัวในกรอบกว้าง 142-162 JPY/USD

 

ผมคงมุมมองว่า BOJ สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่เห็นได้ชัดว่าในปี 2025 ญี่ปุ่นอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากการเมืองทั้งในและนอกประเทศ นโยบายการเงินอาจมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่า Normalization อาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยถ้า JPY แข็งหลุด 145 JPY/USD และอาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเมื่อ JPY อ่อนค่าทะลุ 165 JPY/USD ขึ้นไป

 

สุดท้ายและสำคัญที่สุดสำหรับคนไทยคือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ในจุดที่สามารถลดดอกเบี้ยได้ อย่างไรก็ดี แรงกดดันทางการเมืองจะทำให้ต้องดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบ

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด ชี้ชัดว่า ธปท. ผ่อนคลายนโยบายการเงินลงได้

 

เพราะแม้ก่อนหน้านี้ กนง. จะยืนยันมาตลอดว่าดอกเบี้ยนโยบายสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพระยะยาวแล้ว แต่ท้ายที่สุดกลับลดดอกเบี้ยลง 25 bps เหลือ 2.25% ด้วยเหตุผลเพื่อบรรเทาภาระหนี้

 

มองลึกลงไปในภาพเศรษฐกิจไทย กนง. คาดว่า GDP จะขยายตัวเพียง 2.9% ด้วยเงินเฟ้อพื้นฐานระดับ 0.9% ในปี 2025 จะเห็นว่านโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายได้ในระยะสั้น

 

ประเด็นสงครามการค้า สำหรับประเทศไทยเคยได้รับผลกระทบที่ผสมผสาน โดยมีแรงหนุนจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติจากจีนมายังประเทศไทย แต่สงครามการค้าจะกดดันให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม

 

ส่วนในประเทศ เสถียรภาพทางการเมืองที่ต่ำกลายเป็นภาวะปกติของไทย ทำให้การกระตุ้นทางการคลังเกิดขึ้นยาก และภาครัฐหันมากดดัน ธปท. ให้ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย

 

ปี 2025 จะยิ่งทวีความร้อนแรงมากขึ้นเมื่อตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. จะครบกำหนดในวันที่ 30 กันยายน แน่นอนว่าความผันผวนจะสูงขึ้นและ กนง. ต้องบริหารจัดการนโยบายการเงินให้สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจและรักษาความเชื่อมั่นในตลาดให้ได้

 

ผมมองว่าดอกเบี้ยของไทยมีโอกาสลดลงได้ถึง 1.50% ในปีหน้า บอนด์ยีลด์ 10 ปีมีโอกาสปรับตัวลงไปที่ 2.00-2.50% และด้วยเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน การค้าที่อาจสะดุดจากปัญหาการเมืองโลก ผมคาดว่าเงิน THB จะซื้อขายในกรอบกว้าง 33.5-35.5 THB/USD ในปีหน้าครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising