×

1 ปี สงครามกาซา (ตอนที่ 2): สงครามและความท้าทายในอนาคต

07.10.2024
  • LOADING...
สงคราม

“It’s a place not fit for humans.”

Juliette Touma

ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของ UNRWA กล่าวถึงสภาพชีวิตในกาซา ใน Newsweek Magazine (2 ตุลาคม 2024)

 

ในวาระที่สงครามของอิสราเอลที่ตอบโต้การเปิดปฏิบัติการโจมตีของกลุ่มฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ด้วยการรุกทางทหารเข้าโจมตีเป้าหมายในกาซานั้น เดินทางมาเป็นเวลา 1 ปี…เป็น 1 ปีที่เปลี่ยนเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก และของภูมิภาคตะวันออกกลางโดยตรง และเป็น 1 ปีของวิกฤตมนุษยธรรมชุดใหญ่ของโลกอีกชุดหนึ่งคู่ขนานกับปัญหาสงครามในยูเครน

 

อีกทั้งเป็น 1 ปีที่สร้างความกังวลกับการยกระดับสงครามที่ขยับจากกาซาเข้าสู่เลบานอน ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงสภาวะการรบที่จะกลายเป็นสงครามภูมิภาค (Regional War) เช่นที่เคยเกิดมาแล้วในปี 1967 (The Six-Day War) และในปี 1973 (The Yom Kippur War) หรือไม่

 

ดังนั้นในบทนี้จะทดลองนำเสนอถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากสงครามของอิสราเอลในรอบปีที่ผ่านมา โดยจะเน้นใน 3 ส่วนหลัก ดังนี้

 

1. แนวรบของอิสราเอล

 

นับจากที่สงครามกาซาเกิดขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2023 การเมืองโลกก็เดินเข้าสู่ความเป็นวิกฤตการณ์สงครามอีกชุด ทั้งที่วิกฤตสงครามชุดเดิมที่ยูเครนยังไม่มีแนวโน้มจะยุติลงแต่อย่างใด อีกทั้งกองทัพอิสราเอลขยายพื้นที่สงครามจากกาซาไปสู่เลบานอนในวันที่ 1 ตุลาคม 2024 ด้วยการที่กำลังทางบกของอิสราเอลเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการในเลบานอน จนเสมือนหนึ่งว่า 1 ปี สงครามกาซาได้ขยับตัวไปสู่สงครามเลบานอนอีกด้วย

 

แต่หากพิจารณาถึงสถานการณ์การสู้รบที่เกิดขึ้นนับจากเหตุการณ์การโจมตีอิสราเอลและสงครามกาซา จะเห็นได้ถึงการขยายตัวของสงครามในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งปฏิบัติการของกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐในพื้นที่เหล่านั้นล้วนเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับการสนับสนุนจากอิหร่านเป็นสำคัญ ซึ่งนอกจากกลุ่มฮามาสในกาซาแล้ว กลุ่มติดอาวุธอื่นๆ เป็นภัยคุกคามในมุมมองของอิสราเอลอีก 4 กลุ่ม ได้แก่

 

  • ฮิซบอลเลาะห์ในภาคใต้เลบานอน (Hezbollah)
  • กลุ่มฮูตีในเยเมน (Houthi)
  • กลุ่มต่อต้านของชาวอิสลามในอิรัก (The Islamic Resistance in Iraq)
  • กลุ่มติดอาวุธบางส่วนในซีเรีย

 

กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้นอกจากเป็นสายอิหร่านที่ชัดเจนแล้ว ยังถือเป็นพันธมิตรสำคัญของกลุ่มฮามาสอีกด้วย ดังนั้นเมื่อฮามาสถูกโจมตีใหญ่จากปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ของอิสราเอลในกาซา กลุ่มเหล่านี้ก็ได้เปิดปฏิบัติการของตนเพื่อสนับสนุนการต่อสู้กลุ่มฮามาสในกาซา

 

การสนับสนุนการต่อสู้เช่นนี้ได้กลายเป็นแนวรบที่สำคัญของอิสราเอลอีก 6 พื้นที่สงคราม ดังนี้

 

  • สงครามเลบานอน: สำหรับสงครามในภาคใต้เลบานอนที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขสงครามกาซานั้นเกิดทันทีในวันที่ 8 ตุลาคม 2023 โดยเปิดการโจมตีด้วยปืนใหญ่ จึงนำไปสู่การตอบโต้ของอิสราเอล หรือเกิดสภาวะของการยิงตอบโต้กันไปมาระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และสงครามเริ่มยกระดับในตอนกลางปี 2024 จนกระทั่งต่อมาในวันที่ 17-18 กันยายน 2024 ได้เกิดระเบิดกับเครื่องมือสื่อสารแบบติดตัว (Pager) และวิทยุมือถือ และในวันที่ 20 กันยายน 2024 กองทัพอิสราเอลเปิดการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายที่เป็นที่พักของกลุ่มนี้ในกรุงเบรุต ดูเหมือนจะไม่ต่างจากการวัดความสำเร็จของปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซา คือ วัดจากจำนวนการเสียชีวิตของฝ่ายตรงข้าม ด้วยจำนวนการเสียชีวิตของนักรบฮิซบอลเลาะห์ โดยเฉพาะการทำลายผู้นำกลุ่ม เพราะเชื่อว่าจะทำให้กลุ่มดังกล่าวอ่อนแอจนไม่เป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอล และเปิดโอกาสให้ชุมชนชาวยิวกลับเข้าสู่ที่พักทางเหนือของอิสราเอลได้โดยปราศจากการโจมตีอีก

 

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ตอบโต้ด้วยการยิงจรวดใส่อิสราเอล และอิสราเอลใช้อำนาจทางทหารที่เหนือกว่าตอบโต้ด้วยการใช้กำลังทางอากาศต่อเนื่อง ซึ่งทำให้พลเรือนชาวเลบานอนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความกังวลว่าการตอบโต้เช่นนี้อาจทำให้เกิดการยกระดับของสงครามได้ไม่ยากนัก และสงครามเลบานอนในวันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของสงครามกาซา โดยเฉพาะการส่งกำลังทางบกของอิสราเอลเข้าสู่พื้นที่ของเลบานอน เป็นความท้าทายทางทหารอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลอิสราเอล เนื่องจากที่ผ่านมาอิสราเอลไม่เคยประสบความสำเร็จในสงครามทางบกในเลบานอน

 

  • สงครามทะเลแดง/เยเมน: การโจมตีเรือสินค้าของกลุ่มฮูตีในทะเลแดงด้วยจรวดและโดรนโจมตีเป็นปัญหาสืบเนื่องอีกส่วนของสงครามกาซา และส่งผลกระทบอย่างมากกับการขนส่งทางทะเลในเส้นทางทะเลแดง กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเคยเปิดการโจมตีเป้าหมายในเยเมนมาแล้ว และในช่วงกลางปี 2024 กองทัพอากาศอิสราเอลได้เปิดการโจมตีเป้าหมายของฮูตี จนต้องถือว่าสงครามทางทะเลของฮูตีเป็นอีกแนวรบของอิสราเอลในการทำสงครามกาซา

 

  • สงครามอิรัก: กลุ่มต่อต้านของชาวอิสลามในอิรักใช้จรวดและโดรนด้วยการโจมตีเป้าหมายอิสราเอล และในเดือนมกราคม กลุ่มนี้เสนอที่จะปิดล้อมเส้นทางในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในส่วนที่จะเดินทางไปยังท่าเรือในอิสราเอล และพยายามที่จะเปิดการโจมตีเรือที่ท่าเรือไฮฟาของอิสราเอล กลุ่มนี้เป็นข้าศึกอีกส่วนของแนวรบของอิสราเอล

 

  • สงครามของกลุ่มต่อต้านในซีเรีย: กองทัพอิสราเอลยิงปืนใหญ่และใช้จรวดตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธนี้ในภาคใต้ของซีเรีย อิสราเอลจึงเปิดการโจมตีเป้าหมายในซีเรียติดต่อกันหลายช่วงเวลา และเป็นแนวรบของอิสราเอลอีกส่วนที่ปฏิเสธไม่ได้ อีกทั้งอิสราเอลยังใช้โอกาสนี้ทำลายเป้าหมายของอิหร่านในซีเรียด้วย

 

  • สงครามกับอิหร่าน: ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการยกระดับของสงครามกาซาให้กลายเป็นสงครามใหญ่ของภูมิภาค คือ อิหร่านเปิดการโจมตีโดยตรงต่อเป้าหมายในอิสราเอล ซึ่งการโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้น 2 ครั้ง คือ เดือนเมษายนและตุลาคม 2024 ฉะนั้นการตอบโต้ของอิสราเอลจะมีส่วนสำคัญต่อการยกระดับสงคราม เนื่องจากฝ่ายขวาจัดในอิสราเอลบางส่วนต้องการให้เปิดการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้แสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วย เพราะหากเกิดการโจมตีเช่นนี้จะส่งผลให้เกิดการยกระดับของสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

  • สงครามในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน: อาจต้องยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่นี้มีสภาวะเป็นสงครามในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะปัญหาระหว่างชาวยิวที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานกับชาวปาเลสไตน์ในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน และปัญหานี้ผูกโยงกับความขัดแย้งในกาซาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งความรุนแรงในพื้นที่นี้ทวีมากขึ้นหลังสงครามวันที่ 8 ตุลาคม 2023

 

2. ความสูญเสียและวิกฤตมนุษยธรรม

 

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นสำคัญ ในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2023 นั้น ตัวเลขความสูญเสียของอิสราเอลทั้งที่เป็นทหารและพลเรือนคือ 1,195 คน ในจำนวนนี้เป็นพลเรือน 815 คน และเป็นทหาร 380 นาย และมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกันทั้งหมด 251 คน (ในจำนวนนี้รวมคนงานไทยด้วย)

 

สำหรับตัวเลขความสูญเสียในสงครามกาซา มีจำนวนรวม 43,000 คน เป็นชาวปาเลสไตน์ 41,431 คน และเป็นชาวยิว 1,706 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สื่อข่าวประมาณ 116-134 คน และเป็นเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ (Humanitarian Aid Workers) มากกว่า 224 คน (ตัวเลขรวบรวมจนถึง 23 กันยายน 2024)

 

ผลกระทบของสงครามในมิติทางสังคม คือ มากกว่าร้อยละ 60 ของครอบครัวในกาซาสูญเสียสมาชิกในครอบครัวของตน และจนถึงวันที่ 17 กันยายน 2024 กระทรวงสาธารณสุขของกาซาสามารถยืนยันข้อมูลชื่อ เพศ และวันเกิดของผู้เสียชีวิตได้แล้วจำนวน 34,344 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ใช่เพศชายที่มีอายุสำหรับการเป็นทหาร และในเดือนแรกของสงครามมีเด็กเสียชีวิตราว 4,000 คน

 

นอกจากนี้สงครามยังทำให้เกิดวิกฤตมนุษยธรรมชุดใหญ่ เช่น การขาดแคลนอาหาร, น้ำดื่ม, ยารักษาโรค, ที่พักอาศัย และไฟฟ้า อีกทั้งคนจำนวนมากเสียชีวิตจากความขาดแคลนยาและการรักษาพยาบาลจากโรคที่สามารถรักษาได้ และโรงพยาบาลหลายแห่งถูกทำลาย จนต้องมีการประกาศถึงการระบาดใหญ่ของโรคโปลิโอ (Polio Epidemic) ในพื้นที่กาซา

 

วิกฤตมนุษยธรรมที่สำคัญอีกส่วนคือ การเกิดความอดอยากเป็นวงกว้างในพื้นที่กาซา และชีวิตของผู้คนขาดการติดต่อสื่อสาร เพราะระบบโทรคมนาคมถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศและไม่สามารถรับรู้เรื่องของผู้คนในครอบครัวที่พลัดพรากจากการโจมตีที่เกิดขึ้นได้เลย หรือในอีกมุมหนึ่งอาจกล่าวได้ว่ากาซาถูกทำลายเกือบทั้งหมดจากการโจมตีของอิสราเอล

 

ในอีกด้านของพื้นที่ความขัดแย้งในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เป็นผลสืบเนื่องจากกรณี 7 ตุลาคม 2023 เป็นชาวปาเลสไตน์จำนวน 479 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 116 คน และมีชาวอิสราเอลในนิคมชาวยิวเสียชีวิต 9 คน

 

สำหรับกองทัพอิสราเอลนั้นประมาณการว่าในแต่ละเดือนมีทหารอิสราเอลบาดเจ็บและเสียชีวิตราว 1,000 นายในแต่ละเดือน (ตัวเลขจากกระทรวงกลาโหมอิสราเอล) แม้จำนวนการเสียชีวิตของทหารอิสราเอลจะไม่สูงมากก็ตาม และถ้าแนวโน้มของสงครามยังดำเนินต่อไปไม่หยุด ก็จะมีทหารผ่านศึกที่บาดเจ็บและพิการเพิ่มมากขึ้นในสังคมอิสราเอล

 

ข้อมูลในข้างต้นเป็นผลกระทบที่เกิดกับชีวิตผู้คน หรือในความหมายคือ ประชาชนคนธรรมดาที่เป็นผู้รับผลโดยตรงจากอำนาจการทำลายที่เกิดขึ้น และทิ้งโจทย์ใหญ่และสำคัญในมิติความมั่นคงของมนุษย์ คือ การฟื้นฟูบูรณะกาซาหลังสงคราม ไม่เพียงแต่เรื่องของงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ต้องใช้ในการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น หากการฟื้นฟูอีกส่วนที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรในอนาคต คือ การบูรณะชีวิตและจิตใจ ตลอดรวมถึงที่พักอาศัยของผู้คนหลังสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำอย่างไรที่คนรุ่นใหม่ชาวปาเลสไตน์ในกาซาในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน และอาจรวมถึงผู้คนอีกส่วนในเบรุต ที่จะไม่ถูกดึงเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะความรุนแรง (Radicalization) จนพาตัวเข้าร่วมขบวนการติดอาวุธในอนาคต อันเป็นผลของความคับแค้นทางจิตใจ (Deprivation) จากชีวิตที่ถูกกระทำโดยสงครามของอิสราเอล

 

ปัญหาเช่นนี้ท้าทายต่อการจัดการในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง มิเช่นนั้นแล้วพื้นที่นี้จะคงความเป็นพื้นที่สงครามอย่างถาวร ที่มีนัยถึงความขัดแย้งและการสูญเสียชีวิตแบบไม่สิ้นสุด

 

3. ความมั่นคงของอิสราเอล

 

นักยุทธศาสตร์ทุกคนถูกสอนเสมอว่า ความเหนือกว่าทางทหารที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักในการทำสงครามนั้นไม่ใช่หลักประกันความมั่นคงที่ดีที่สุดของรัฐ เพราะอำนาจบังคับ (Coercive Power) ที่วางอยู่บนรากฐานของอำนาจทางทหารนั้นไม่ใช่ปัจจัยที่ดำรงอยู่โดยไม่มีความเปลี่ยนแปลง

 

ในสภาวะเช่นนี้ปัญหาความมั่นคงของรัฐอิสราเอลเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งในระดับทางยุทธการแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 เป็นภาพสะท้อนถึงความล้มเหลวของงานข่าวกรอง (Intelligence Failure) อย่างปฏิเสธไม่ได้ และอาจไม่ต่างกับสถานการณ์การถูกโจมตีแบบที่คาดไม่ถึง (Surprise Attack) ที่ไม่ใช่เกิดจากการขาด และ/หรือไม่มีข้อมูลข่าวกรองเพียงพอ แต่ปัญหาสำคัญมักเกิดจากการขาดการประมาณการและตีความข้อมูลการข่าวที่มีอยู่ เช่น ในคืนก่อนการโจมตีจะเกิดขึ้นนั้นมีการติดต่อทางโทรศัพท์ที่มากผิดปกติในกาซา สายโทรศัพท์ที่ถูกหน่วยข่าวกรองดักสัญญาณมีความผิดปกติอย่างชัดเจน แต่หน่วยข่าวกรองอิสราเอล (Mossad) กลับไม่รู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น

 

ความผิดพลาดอย่างสำคัญอีกประการคือ ความพยายามที่จะอ่านใจผู้นำกลุ่มฮามาส แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วอาจเป็นความผิดพลาดอย่างมาก เพราะในแวดวงความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นทหาร, ฝ่ายการเมือง, นักวิชาการ และอาจรวมถึงสื่อด้วย ล้วนไม่ได้มีขีดความสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้เลย หรือในทางกลับกันก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำในลักษณะดังกล่าวได้ เพราะนักการข่าวหรือนายทหารรุ่นใหม่ไม่มีความรู้ในภาษาอาหรับ พวกเขาไม่สามารถอ่านข้อมูลจากภาษาท้องถิ่นได้

 

ประเด็นสำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือ ฝ่ายข่าวกรองของอิสราเอลในปัจจุบันอาจไม่เข้าใจกลุ่มฮามาสจริงๆ และมองไม่ออกถึงการจัดวางลำดับความสำคัญของปฏิบัติการของกลุ่ม อีกทั้งการขาดความรู้ทางภาษา ทำให้โอกาสของการวิเคราะห์รวมถึงการทำนายและการคาดการณ์ถึงเจตนารมณ์ของข้าศึกเป็นไปได้ยาก และก็อาจเป็นปัญหากับความพยายามที่จะทำความเข้าใจกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เช่นกันด้วย การขาดความรู้ทางภาษาจึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนรู้และเข้าใจต่อกลุ่มเหล่านี้

 

นอกจากนี้ความเชื่อมั่นที่มากเกินไปจนกลายเป็นการละเลยปัจจัยอื่นๆ และเชื่ออย่างเดียวว่าเทคโนโลยีที่เหนือกว่าในการระวังป้องกันชายแดนนั้นจะเป็นปัจจัยที่ป้องปรามไม่ให้กลุ่มฮามาสเปิดการโจมตีอิสราเอลได้ หรือเชื่อว่าไม่มีทางที่กำลังพลของกลุ่มฮามาสจะประสบความสำเร็จในการฝ่าแนวป้องกันด้วยรั้วเทคโนโลยีสมรรถนะสูงเช่นนี้ได้เลย

 

ดังนั้นในมิติของความมั่นคงภายในของอิสราเอลเช่นนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจติดตามว่า ระบบงานป้องกันชายแดนและงานข่าวกรองของประเทศนั้นจะปรับเปลี่ยนอย่างไรจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 เพราะประเด็นนี้เป็นโจทย์สำคัญที่ผู้นำทั้งทางการเมืองและการทหารของอิสราเอลยังคงต้องเผชิญต่อไปในอนาคต

 

อนาคตที่ไม่สดใส

 

ผลจากสงครามกาซาที่ขยับเข้าสู่สนามรบในเลบานอนนั้นเป็นคำตอบอย่างดีว่า อนาคตของการเมืองและความมั่นคงของภูมิภาคตะวันออกกลางดูจะไม่สดใสเท่าใดนัก… วันสงครามยังดูคละคลุ้งไม่จาง

 

วัตถุประสงค์ที่ถูกกำหนดไว้ในแผนสงครามของอิสราเอลทำท่าว่าจะประสบปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้ว่าการกวาดล้างกลุ่มฮามาสให้หมดไปจากกาซาน่าจะเป็นไปได้ยาก การพาตัวประกันชาวยิวที่เหลืออยู่ในกาซากลับบ้านอย่างปลอดภัยก็ยังไม่ปรากฏเป็นจริง หรือในแนวรบด้านเลบานอน การสร้างความปลอดภัยให้กับชุมชนชาวยิวที่อาศัยอยู่ทางเหนือของอิสราเอล (ต่อกับทางใต้ของเลบานอน) นั้นก็ยังไม่เป็นไปได้จริง แม้กำลังรบของอิสราเอลจะข้ามพรมแดนเข้าไปในเลบานอนแล้วก็ตาม

 

นอกจากนี้หากผู้นำอิสราเอลต้องการสร้างแนวกันชน (Buffer Zone) ให้กับพื้นที่ภาคเหนือดังกล่าวด้วยการยึดพื้นที่ภาคใต้ของเลบานอนเพื่อจัดทำแนวกันชนนี้ ก็จะเป็นปัญหาที่ไม่จบในอนาคต เพราะจะต้องเผชิญกับเสียงต่อต้านและคัดค้านบนเวทีระหว่างประเทศอย่างแน่นอน และทั้งจะเป็นเชื้อไฟอย่างดีให้กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน

 

ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่าชัยชนะของอิสราเอลยังไม่ประสบความสำเร็จจริง แต่การเปิดปฏิบัติการของกลุ่มฮามาสอาจประสบความสำเร็จในการนำเอาประเด็นที่เป็นปัญหาของชาวปาเลสไตน์กลับมาสู่ความสนใจบนเวทีโลกนั้นอาจประสบความสำเร็จจริง แต่ก็เป็นความสำเร็จที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และเสี่ยงต่อการล่มสลายของชีวิตและสังคมในกาซา

 

อีกทั้งการขยายความขัดแย้งในพื้นที่เช่นนี้ยังทำให้เกิดวิกฤตการณ์อื่นบนเวทีโลกตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาพลังงาน, อาการแกว่งของตลาดเงินตลาดทุน, ราคาทองคำที่มีแนวโน้มไม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังผูกโยงกับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์บนเวทีโลกที่บทบาทของรัฐมหาอำนาจใหญ่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเมืองตะวันออกกลาง ดังจะเห็นถึงปัจจัยที่คาดคะเนไม่ได้และมีความสำคัญอย่างมากประการหนึ่งคือ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งผู้นำคนใหม่ของทำเนียบขาว ไม่ว่าจะเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ คามาลา แฮร์ริส จะส่งผลกับปัญหานี้อย่างแน่นอน

 

ท้ายบท

 

ข้อเสนอสันติภาพในกาซามีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ยากมากขึ้น แนวคิดเรื่อง 2 รัฐ ที่เป็นเพื่อนบ้านอยู่ประชิดกันระหว่างชาวยิวและชาวปาเลสไตน์ (The Two-State Solution) ที่ว่าเป็นไปได้ยากก่อนเหตุการณ์ 10/7 จะยิ่งยากมากขึ้นหลังเหตุการณ์ 10/7…ชาวยิวส่วนหนึ่งจะหวาดกลัวอย่างมากกับการมีรัฐปาเลสไตน์ที่อยู่ติดพรมแดนของอิสราเอล ชาวปาเลสไตน์เองก็ไม่ต้องการกลับไป ‘ติดคุกกาซา’ ภายใต้การปิดล้อมของอิสราเอล และการสร้างรัฐปาเลสไตน์บนซากปรักหักพังจากสงครามในกาซาก็เป็นความยากลำบากอย่างมาก

 

อีกทั้งยังน่ากังวลอย่างมากว่า ชาวปาเลสไตน์รุ่นใหม่ที่ผ่านความโหดร้ายจากสงครามของอิสราเอลนั้นจะเป็นเสมือนกับการเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะความรุนแรงและพร้อมที่จะเป็นระเบิดเวลาในอนาคตหรือไม่

 

แน่นอนว่าสันติภาพกาซาและการสิ้นสุดของการรบในเลบานอนเป็นสิ่งที่ควรจะเร่งดำเนินการให้ได้ เพราะความรุนแรงอย่างมากของวิกฤตมนุษยธรรมเป็นข้อเรียกร้องในตัวเอง แต่ท่ามกลางสถานการณ์สงครามที่ผ่านมาในรอบ 1 ปี ดูจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าช่วงเวลาข้างหน้าอาจเป็น Dead Years มากกว่าจะเป็น Peace Years

 

ข้อสรุปใน 1 ปีแรกของสงครามจึงมีเพียงประการเดียวว่า แสงสว่างของสันติภาพกาซาและเลบานอนยังอยู่ห่างไกล…บางทีอาจยังไกลมากด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งควันสงครามยังคละคลุ้งและอาจยังไม่จางลงทันทีในปี 2025 อีกทั้งยังต้องเตรียมใจที่โลกอาจเผชิญวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่จะตามมากับภาวะสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

 

สงครามชุดนี้ไม่ได้มีแค่ในกาซา เลบานอน เท่านั้น หากต้องไม่ลืมว่าสงครามยูเครนกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 4 และสงครามในรัฐชายขอบอีกหลายจุดของโลกยังรุนแรงมากอย่างที่เราไม่คิด…จนดูเหมือน ‘นกพิราบแห่งสันติภาพ’ กำลังจะหมดแรงบินแล้ว!

 

ภาพ: Jalaa MAREY / AFP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising