×

1 ปี สงครามกาซา (ตอนที่ 1): สงครามที่ไม่จบของอิสราเอล

06.10.2024
  • LOADING...

“We are at war.”

คำประกาศของ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023

 

เช้าวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2023 เวลา 06.30 น. โดยประมาณ เกิดเหตุโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาส (Hamas) อย่างไม่คาดคิด 

 

กลุ่มฮามาสเรียกปฏิบัติการนี้ว่า ‘The Operation Al-Aqsa Flood’ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวอิสราเอลอย่างมาก โดยฮามาสเปิดปฏิบัติการด้วยการยิงจรวดประมาณ 5,000 นัดอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาราว 20 นาที และตามมาด้วยการส่งกำลังพลของฮามาสประมาณ 3,000 คน ข้ามพรมแดนเข้ามา เพื่อเปิดการโจมตีขนาดใหญ่ต่อพื้นที่ตอนในของอิสราเอลอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นต้องถือเป็น ‘ปฏิบัติการเขย่าขวัญ’ สำหรับชาวยิวเป็นจำนวนมาก หรือโดยเปรียบเทียบแล้ว การโจมตีครั้งนี้เป็นเสมือนกับ ‘9/11 ของอิสราเอล’ เช่นที่สหรัฐอเมริกาเคยต้องประสบกับการโจมตีอย่างที่คาดไม่ถึงมาแล้วในวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือที่เรียกกันว่า ‘9/11’ ที่นิวยอร์ก

 

เหตุการณ์โจมตีในวันนั้น ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายดังที่ปรากฏเป็นข่าว หากยังเป็นเหมือนกับการ ‘หยาม’ รัฐบาลและกองทัพอิสราเอลอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเป็นการโจมตีที่เกิดขึ้นในดินแดนอิสราเอลโดยตรง ทั้งที่มีการลงทุนด้วยการสร้างระบบการป้องกันแนวพรมแดนสมัยใหม่ระหว่างอิสราเอลกับกาซาในแบบที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่เราเคยเห็น ด้วยการมีรั้วเหล็กขึงตลอดแนว พร้อมกับระบบเฝ้าตรวจและติดตามสมัยใหม่ หรือที่เรียกกันในชื่อของ ‘Iron Dome’ 

 

ปฏิบัติการสายฟ้าแลบของฮามาส: รั้วอาจแข็งแรง แต่ไม่แข็งแรงทั้งหมด

 

การป้องกันชายแดนในส่วนนี้มีความชัดเจนในการป้องกันการโจมตีของกลุ่มฮามาส เพราะนับจากปี 2007 เป็นต้นมา กาซาถูกปกครองโดยกลุ่มดังกล่าว ในขณะที่พื้นที่ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลปาเลสไตน์ (The Palestinian Authority) ซึ่งความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสเกิดขึ้นโดยตลอดหลังจากนั้น โดยเฉพาะความขัดแย้งสำคัญที่เกิดในปี 2021 อันเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปีกการทหารของฮามาสตัดสินใจเปิดปฏิบัติการในวันที่ 7 ตุลาคม

 

พวกเขาเชื่อในอีกส่วนว่า หากเกิด ‘เหตุใหญ่’ ในกาซาแล้ว จะเป็นปัจจัยที่ดึงความสนใจของโลกมาสู่ประเด็นของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งอีกส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน และในช่วงหลัง ความสนใจของเวทีโลกต่อปัญหาในกาซานั้นลดลงไปอย่างมาก อันอาจเป็นเพราะสถานการณ์โลกมีวิกฤตในหลายจุด ไม่ใช่แต่เพียงในกาซาเท่านั้น

 

นอกจากนี้ ความขัดแย้งในพื้นที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการยึดครองของอิสราเอล การปฏิบัติที่ละเมิดต่อสิทธิของชาวปาเลสไตน์ และการปิดล้อม (Blockade) ที่อิสราเอลกระทำต่อกาซามาอย่างยาวนาน ซึ่งก่อให้เกิดความ ‘คับแค้นทางจิตใจ’ ในหมู่ชาวปาเลสไตน์อย่างมาก เพราะกาซาเป็นดัง ‘เมืองที่ถูกปิดล้อมตลอดกาล’ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตตามปกติของชาวปาเลสไตน์อย่างหนัก และสภาวะเช่นนี้ ในทางกลับกันก็กลายเป็นเงื่อนไขอย่างดีให้กลุ่มฮามาสชนะการเลือกตั้งในกาซา

 

ในขณะเดียวกัน อิสราเอลมีรัฐบาลปีกขวาจัดปกครองประเทศ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ที่มีทิศทางในแบบขวาจัดอย่างมาก ก็ยิ่งส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายขวาจัดในแบบ ‘ลัทธิชาตินิยมชาวยิว’ (The Jewish Nationalism) ต่อการจัดการปัญหาในกาซา ในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน และปัญหาของนิคมชาวยิว จนเกิดสภาวะที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตในเชิงทิศทางการเมืองและความมั่นคงว่า ยิ่งรัฐบาลเนทันยาฮู ‘สวิงขวาสุด’ ข้างหนึ่ง รัฐบาลฮามาสในกาซาก็ ‘สวิงซ้ายสุด’ ไปอีกข้างหนึ่ง จนเป็นดังปฏิภาคผกผันซึ่งกันและกันในสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่าง 2 ฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

แต่ในมิติทางทหารแล้ว รัฐบาลอิสราเอลมีความเชื่อมั่นอย่างมากว่า รั้วสมัยใหม่ที่มีอุปกรณ์เฝ้าตรวจพร้อมสมบูรณ์นั้น จะเป็นปัจจัยที่ป้องกันการโจมตีของกลุ่มฮามาสที่จะมาจากทางกาซาได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือโดยนัยคือการต่อสู้ระหว่าง ‘โลว์เทค vs. ไฮเทค’ โดยฮามาสเป็นตัวแทนของสงครามเก่าที่มีเทคโนโลยีในระดับต่ำ ส่วนอิสราเอลเป็นตัวแทนของสงครามสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีในระดับสูงเป็นเครื่องมือ และเชื่ออย่างมากว่า เทคโนโลยีทหารสมรรถนะสูงจะเป็นคำตอบหลักของการป้องกันพรมแดนของตน และไม่ว่าจะอย่างไร ข้าศึกจะฝ่าแนวป้องกันนี้มาไม่ได้

 

ในที่สุดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2023 ก็เกิดขึ้นอย่างที่รัฐบาลและกองทัพอิสราเอลนึกไม่ถึง กำลังพลในแบบของนักรบกองโจรของกลุ่มฮามาสที่มีประสิทธิภาพในสงครามอสมมาตรก็เปิดการโจมตีฝ่าข้ามแนวป้องกันดังกล่าวได้ และเป็นการโจมตีในแบบที่อิสราเอลไม่คาดคิด หรือเป็น ‘Surprise Attack’ ในทางวิชาทหาร หรืออาจเรียกในเชิงเปรียบเทียบว่า ‘ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ’ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

 

หากเปรียบเทียบในวิชาประวัติศาสตร์สงครามแล้ว การโจมตีในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ย้อนรอยประวัติความผิดพลาดในการเตรียมการรับมือกับการโจมตีของกองทัพผสมอียิปต์-ซีเรียที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 1973 และนำไปสู่สงครามใหญ่ระหว่างอิสราเอลกับโลกอาหรับ หรือที่เรียกกันว่า ‘สงครามยมคิปปูร์’ (The Yom Kippur War วันที่ 6-25 ตุลาคม 1973) จนอาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า สงครามของฮามาสในปี 2023 เป็นการฉลองวาระครบรอบ 50 ปีสงครามยมคิปปูร์ ด้วยการโจมตีอิสราเอลในลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือการโจมตีแบบที่ข้าศึกคาดไม่ถึง

 

การโจมตีในวันนั้นทำให้ชาวยิวเสียชีวิต 1,195 คน ในจำนวนนี้เป็นพลเรือน 815 คน และมีผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน 251 คน ซึ่งเป็นชาวยิวและบุคคลสัญชาติอื่นที่รวมถึงคนงานชาวไทยด้วย

 

แน่นอนว่าการโจมตีอิสราเอลในวันดังกล่าวเป็นปฏิบัติการทหารที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับการเมืองในตะวันออกกลางและในเวทีโลกอย่างมาก เพราะคาดเดาได้ไม่ยากเลยว่า อิสราเอลจะต้องมี ‘ปฏิบัติการตอบโต้’ ในลักษณะของการเอาคืนทางทหาร ซึ่งเป็นทิศทางของรัฐบาลอิสราเอลมาโดยตลอด ประกอบกับอิสราเอลมีผู้นำฝ่ายขวาจัดและรัฐบาลขวาจัดอยู่ในอำนาจแล้ว การตอบโต้กลับด้วยการใช้กำลังทหารอย่างหนักเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังที่นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอลประกาศชัดเจนว่า กองทัพอิสราเอลจะ “เปลี่ยนทุกสถานที่ที่ฮามาสอยู่และหลบซ่อนให้กลายเป็นซากปรักหักพัง” 

 

สงครามกาซา 2023: สงครามครั้งที่ 5 ของอิสราเอลในกาซา

 

ใน 1 วันหลังจากการโจมตีของฮามาส (8 ตุลาคม 2023) กองทัพอิสราเอลก็เปิดปฏิบัติการทางทหารทั้งทางบกและทางอากาศ รุกเข้าไปในพื้นที่กาซา อันเป็นดินแดนที่เป็นถิ่นที่พักอาศัยของชาวปาเลสไตน์ และปฏิบัติการทหารครั้งใหญ่ของอิสราเอลเกิดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม อันถือเป็นสงครามครั้งที่ 5 ของอิสราเอลในกาซา และอาจจะต้องถือว่าเป็นครั้งสำคัญที่สุดด้วย 

 

ผลของการโจมตีในวันที่ 7 ตุลาคมนั้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับฮามาสอยู่ใน ‘ภาวะสงครามถาวร’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกลายเป็นโอกาสโดยตรงที่อิสราเอลจะเปิดสงครามในกาซาอีกครั้ง ซึ่งในช่วงก่อนที่ฮามาสจะเปิดการโจมตีนั้น ปีกการทหาร (The Al-Qassam Brigade) ของฮามาสดูจะมีอิทธิพลมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นภาพสะท้อนของความรู้สึกของชาวปาเลสไตน์ในกาซาอีกด้วย โดยเฉพาะการปิดล้อมกาซาของอิสราเอลที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสมือนถูกจับ ‘ติดคุกกาซา’ ทั้งชีวิต 

 

ในอีกด้านหนึ่งของปัญหา รัฐบาลปีกขวาจัดของอิสราเอลเองก็ต้องการจัดการกับปัญหาภัยคุกคามของฮามาสในกาซาให้ได้ ดังสะท้อนให้เห็นจากมุมมองของผู้นำอิสราเอลว่า กาซาคือ “เมืองแห่งความชั่วร้าย” (The city of evil)

 

อย่างไรก็ดี กลุ่มฮามาสในวันที่ 9 และ 10 ตุลาคม พยายามเสนอข้อต่อรองที่จะไม่ให้กองทัพอิสราเอลเปิดการโจมตีกาซา โดยกลุ่มจะยอมปล่อยตัวประกันชาวยิวทั้งหมด แต่รัฐบาลอิสราเอลตอบปฏิเสธข้อแลกเปลี่ยนดังกล่าว อันเท่ากับเป็นสัญญาณว่าสงครามใหญ่ในกาซาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ รัฐบาลอิสราเอลประกาศ ‘สถานะสงคราม’ (State of war) เป็นครั้งแรกหลังจากสงครามยมคิปปูร์ในปี 1973 และกองทัพอิสราเอลก็ประกาศ ‘สถานะความพร้อมรบในสงคราม’ ด้วยการระดมทหารกองหนุน

 

หากดูจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของกาซาแล้ว ตอบได้ทันทีว่าการเปิดการโจมตีทางทหารขนาดใหญ่ต่อเป้าหมายในพื้นที่เช่นนั้น สิ่งที่ตามมาคือ ‘หายนะของกาซา’ อย่างแน่นอน เป็นหายนะที่มีชีวิตและที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์เป็นเป้าการทำลายล้าง เนื่องจากพื้นที่ของกาซาเป็นแนวยาวและแคบ (ภาษาทางภูมิศาสตร์เดิมเรียกพื้นที่นี้ว่า ‘ฉนวนกาซา’ ซึ่งอาจเป็นคำที่คนในรุ่นปัจจุบันจะไม่คุ้นเคยมากนัก) และเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรมากกว่า 2 ล้านคน การโจมตีต่อพื้นที่เช่นนี้จะทำให้ชาวปาเลสไตน์ไม่มีที่หลบภัย และจะก่อให้เกิดการเสียชีวิตเป็นจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของกาซามีความยาวและแคบ ซึ่งจะทำให้การอพยพหนีภัยสงครามของชาวปาเลสไตน์ยากลำบากอย่างมาก

 

มหาภัยพิบัติของสงคราม: วิกฤตมนุษยธรรมใหญ่ในกาซา

 

การโจมตีของอิสราเอลต่อเป้าหมายในกาซา ทำให้เลขาธิการสหประชาชาติต้องออกมาเตือนด้วยคำกล่าวที่น่าหดหู่ใจว่า กาซากำลังกลายเป็น ‘สุสานของเด็ก’ ชาวปาเลสไตน์ อีกทั้งสงครามกาซากลายเป็น ‘วิกฤตมนุษยธรรม’ ครั้งสำคัญของโลกปัจจุบันอีกชุดหนึ่ง ดังจะพบว่าชาวปาเลสไตน์มากกว่า 40,000 คนเสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอล และ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก

 

ประมาณการในช่วงต้นปี 2024 จากการโจมตีของอิสราเอลที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนบ้านและที่พักอาศัยในกาซาถูกทำลาย ต้นไม้และพื้นที่ทำเกษตรมากกว่า 1 ใน 3 ถูกทำลาย โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมถูกทำลายทั้งหมด สุสาน 12 แห่งถูกทำลาย และเกิดผู้อพยพภายใน (IDP) จำนวนมาก และดังที่กล่าวแล้ว สงครามกาซากลายเป็น ‘วิกฤตมนุษยธรรม’ (Humanitarian Crisis) ชุดใหญ่อีกชุดหนึ่งในการเมืองโลก อันเป็นผลจากการหลบหนีภัยสงครามของพลเรือนดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในสงครามยูเครน

 

อย่างไรก็ตาม ผู้นำอิสราเอลพยายามสร้างความชอบธรรมในการทำสงครามในกาซาด้วยเหตุผลว่า สงครามครั้งนี้เป็นการใช้กำลังเพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาส เพื่อกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายฮามาสในกาซาให้ ‘สิ้นสภาพ’ เพื่อไม่ให้เป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอลในอนาคต และเพื่อติดตามและนำพาตัวประกันชาวยิวที่ถูกลักพาตัวไปเก็บไว้ในกาซาในวันที่ 7 ตุลาคมกลับบ้านให้ได้

 

แต่สิ่งที่เกิดจากภาพข่าวของสื่อสากล ดูเหมือนสงครามกาซาดูจะไม่เป็นไปในทิศทางเช่นนั้น เพราะปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลสร้างความเสียหายกับชีวิตของชาวปาเลสไตน์ในวงกว้าง อีกทั้งส่งผลให้เกิดวิกฤตมนุษยธรรมชุดใหญ่ และผลที่ตามมาย่อมส่งผลต่อจิตใจของชาวปาเลสไตน์อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมของคนรุ่นต่อไประหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์ในอนาคต 

 

คงต้องยอมรับความจริงที่น่าลำบากใจในทางสังคมว่า สงครามของอิสราเอลในครั้งนี้สร้าง ‘บาดแผลในใจ’ ให้กับชาวปาเลสไตน์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะความสูญเสียของครอบครัวชาวปาเลสไตน์ ขณะเดียวกันชาวยิวบางส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ครอบครัวที่ถูกสังหารหรือถูกลักพาตัวจากปฏิบัติการของกลุ่มฮามาส ย่อมมี ‘บาดแผลในใจ’ ไม่แตกต่างกัน

 

ท้ายบท

 

จวบจนปัจจุบัน สงครามกาซาเดินทางมาครบ 1 ปีแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ วิกฤตสงครามที่เป็นต้นทางของวิกฤตมนุษยธรรมไม่ได้มีแนวโน้มที่จะลดระดับลงแต่อย่างใด จนอดกังวลต่อปัญหาสงครามกาซาที่อาจยกระดับขึ้นได้ไม่ยาก โดยเฉพาะการขยายปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลเข้าสู่เลบานอน เช่นเดียวกับที่วิกฤตมนุษยธรรมก็ยกระดับตามไปทั้งในกาซาและเลบานอน

 

นอกจากนี้ ถ้าชัยชนะในสงครามวัดจากการบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดขึ้นในแผนสงครามแล้ว สงครามของอิสราเอลในครั้งนี้ดูจะยังห่างไกลจากคำว่า ‘ชัยชนะ’ อย่างมาก แต่ก็อาจถือว่าสงครามเป็นปัจจัยของ ‘โอกาส’ ที่ช่วยให้รัฐบาลขวาจัดของอิสราเอลดำรงอยู่ได้ท่ามกลางเสียงประท้วงใหญ่ในบ้าน การขยายสงครามจึงเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองโดยตรงของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู

 

วันนี้เลบานอนกำลังเป็นสนามรบอีกชุดของกองทัพอิสราเอลอย่างท้าทาย ทั้งที่สงครามในกาซายังไม่ยุติลง…จนดูจะเป็นครบรอบปีของสงครามที่ยังไม่เห็น ‘แสงสว่างของสันติภาพ’ ที่ปลายอุโมงค์แต่อย่างใด!

 

ภาพ: Sharon ARONOWICZ / AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X