ในที่สุดเมื่อวานนี้ (11 มีนาคม) ก็ปิดฉากปฏิบัติการที่กองทัพเรือเรียกว่า ‘ปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย’ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
THE STANDARD ชวนย้อนอ่านบทสรุปผลการปฏิบัติการตลอดระยะเวลา 19 วันของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ
ปฏิบัติการนี้คืออะไร
เรือหลวงสุโขทัยอับปางลงเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมีกำลังพลสูญหาย 5 นาย เสียชีวิต 24 นาย และรอดชีวิต 70 นาย
ข้อมูลจากกองทัพเรือระบุว่า ปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ โดยกองเรือสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกได้ส่งกำลังประกอบด้วย เรือกู้ซ่อมชื่อ Ocean Valor และทีมนักประดาน้ำของกองทัพเรือสหรัฐฯ มาร่วมปฏิบัติการภายในกรอบการฝึกร่วม-ผสมคอบร้าโกลด์ 2024
ปฏิบัติการครั้งนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการกู้เรือแบบจำกัด ไม่ใช่การกู้เรือขึ้นจากทะเลทั้งลำ สาเหตุสำคัญเนื่องจากเรือลำนี้ต่อในสหรัฐอเมริกา อนาลโย กอสกุล ระบุว่า ในเรือหลวงสุโขทัยลำนี้มีเทคโนโลยีทางทหารของสหรัฐอเมริกาเต็มลำเรือ ซึ่งผู้ซื้ออาวุธจะต้องยอมรับข้อตกลงที่เรียกว่า ข้อตกลงของผู้ใช้รายสุดท้ายคือ End User Agreement
ข้อตกลงนี้ไม่ได้มีเงื่อนไขจำกัดการใช้งาน แต่จะต้องรักษาความลับทางทหารของสหรัฐอเมริกา ไม่ให้บุคคลที่ 3 เข้าถึงได้ ซึ่งการละเมิด End User Agreement นั้น แม้สหรัฐอเมริกาจะไม่สามารถจับคนไทยคนไหนขึ้นศาลได้ แต่สหรัฐอเมริกาสามารถแบนการขายอาวุธหรืออะไหล่ในอนาคตต่อไทยได้ทั้งหมด เนื่องจากไทยผิดข้อตกลงนี้
เป้าหมายของปฏิบัติการ
กองทัพเรือสรุปเป้าหมายของปฏิบัติการใน 4 ภารกิจดังต่อไปนี้
- การค้นหาผู้สูญหายจำนวน 5 คนที่อาจติดอยู่ภายในเรือ
- การตรวจสอบวัตถุพยานที่ตัวเรือ เพื่อประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการอับปางของเรือหลวงสุโขทัย
- การปลดวัตถุอันตรายและการทำให้ยุทโธปกรณ์สำคัญของสหรัฐฯ หมดขีดความสามารถ (Demilitarization)
- การนำสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจของเรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาทำอนุสรณ์สถาน
เรือหลวงสุโขทัยจมอยู่ที่ใด
ปัจจุบันเรือหลวงสุโขทัยจมอยู่ที่กลางทะเลความลึก 50 เมตร ทางทิศตะวันออกของท่าเรือประจวบ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 21.4 ไมล์ทะเล หรือ 38.52 กิโลเมตร
โดยทัศนวิสัยใต้น้ำประมาณ 5-10 เมตร พื้นท้องทะเลเป็นโคลนปนทราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโคลน สภาพตัวเรือตั้งตรงหรือนั่งแท่น เอียงซ้ายเล็กน้อยประมาณ 7 องศา หัวเรือหันไปในทิศ 240 หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตัวเรือจมโคลนประมาณ 1 เมตร บริเวณตัวเรือและอุปกรณ์ภายนอกตัวเรือทั้งหมดปกคลุมด้วยตะกอนดิน เพรียง และหอย ความหนาประมาณ 1 นิ้ว
โดยตัวเรือภายในเริ่มปกคลุมด้วยตะกอนดินและเศษวัสดุต่างๆ ที่เริ่มย่อยสลาย ไม่พบการรั่วไหลของน้ำมันหรือสารเคมีต่างๆ จุดที่สูงที่สุดของเรือคือเสากระโดงเรือ อยู่ลึกจากผิวน้ำลงไป 90 ฟุต หรือ 27 เมตร ไม่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ (จากสถิติเรือที่กินน้ำลึกสูงสุด 24.5 เมตร)
ไม่พบผู้สูญหายทั้ง 5 คน
กองทัพเรือแถลงผลการปฏิบัติการตลอดระยะเวลา 19 วันของการปฏิบัติการ โดยเฉพาะการค้นหาผู้สูญหายที่อาจติดอยู่ภายในเรือ ผลปรากฏว่า ไม่พบผู้สูญหายในทุกห้อง
“ทุกสถานที่ที่เราเข้าไปได้และสถานที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีคนอยู่ รวมถึงค้นหาบริเวณรอบนอกตัวเรือและพื้นท้องทะเลใกล้ตัวเรือ ก็ไม่พบร่างหรือชิ้นส่วนกระดูกของคน” พล.ร.อ. ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ระบุในการแถลงผลการปฏิบัติการ
ปลดวัตถุอันตราย-เก็บพยานหลักฐาน
การปฏิบัติการครั้งนี้ได้ปลดวัตถุอันตรายและการทำให้ยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของสหรัฐฯ หมดขีดความสามารถทางทหารจำนวน 3 อย่าง คือ อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นฮาร์พูน, ตอร์ปิโด MK 309 และเครื่องมือสื่อสารที่เกี่ยวข้อง
และยังได้มีการนำอาวุธปืนของกองทัพเรือขึ้นมาจากน้ำ เช่น ปืนกล 20 มิลลิเมตร จำนวน 2 กระบอก, ปืนเล็กยาว M16 จำนวน 10 กระบอก รวมถึงได้หลักฐานครบถ้วนตามที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องนำเรือทั้งลำขึ้นมาจากน้ำ
กองทัพเรือยังได้นำสิ่งของในเรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาเพื่อจัดทำเป็นอนุสรณ์สถานรวม 11 รายการ เช่น ป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัย, พญาครุฑประจำเรือ, พระพุทธรูปประจำเรือ, เสากระโดงเรือ, สมอเรือ และป้ายรายนามผู้บังคับการเรือ
นอกจากนี้ในปฏิบัติการยังได้ตัดเสากระโดงเรือความสูง 10 เมตรออกอีก ทำให้ความสูงของเรือลดลงไปอีก ส่งผลให้มีความปลอดภัยต่อการเดินเรือเพิ่มขึ้นอีก ไม่มีวัตถุและสิ่งที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ไม่มีวัตถุอันตรายต่อคนและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล รวมทั้งไม่มีขีดความสามารถทางทหารที่จะสามารถนำไปใช้ได้อีก
ขั้นตอนต่อไปหลังจบปฏิบัติการ
กองทัพเรือแถลงว่า หลังจากปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเสร็จสิ้นในวันนี้ สิ่งที่กองทัพเรือจะดำเนินการต่อไปคือ รวบรวมยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์ และสิ่งของของเรือหลวงสุโขทัย ที่เก็บกู้ได้นำส่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบต่อไป
โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปางจะสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงจากข้อมูลและพยานวัตถุที่สำรวจ ตรวจสอบ และเก็บกู้ได้จากการปฏิบัติการครั้งนี้ และกองทัพเรือจะจัดการแถลงข่าวต่อไป
ทั้งนี้ กองทัพเรือจะจัดสร้างอนุสรณ์สถานเรือหลวงสุโขทัย โดยใช้อุปกรณ์และชิ้นส่วนของเรือที่ถอดถอนและนำขึ้นมาได้จากการปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อรำลึกถึงเรือหลวงสุโขทัย รวมทั้งความกล้าหาญและความเสียสละของกำลังพลที่เสียชีวิตและสูญหาย
อ้างอิง: