×

Operation New Order ปฏิบัติการปลิดชีพผู้นำฮิซบอลเลาะห์ ส่ง F-15 ทิ้งระเบิดทะลวงบังเกอร์ใต้ดิน

30.09.2024
  • LOADING...

จากข้อมูลที่กองทัพอิสราเอลแถลงเพิ่มเติมออกมา รวมถึงข้อมูลจากหลายแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ทำให้เราพอจะเห็นภาพว่าปฏิบัติการที่กองทัพอิสราเอลเรียกว่า Operation New Order ซึ่งสังหาร ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ ผู้นำสูงสุดของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ มีที่มาที่ไปที่ซับซ้อน และใช้การวางแผนการปฏิบัติการอย่างรอบคอบ จนทำให้กองทัพอิสราเอลสามารถบรรลุเป้าหมายได้

 

ฮิซบอลเลาะห์เป็นพรรคการเมืองมุสลิมชีอะห์ในเลบานอน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขับไล่อิสราเอลจากการรุกรานเลบานอนในปี 1982 และได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ซึ่งแม้ฮิซบอลเลาะห์จะเป็นพรรคการเมืองที่มีกลไกของพรรคการเมืองอย่างเต็มที่ มีการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และมีตัวแทนเข้าร่วมกับคณะรัฐมนตรีของเลบานอน แต่ฮิซบอลเลาะห์ก็ยังมีกองทัพเป็นของตัวเอง ซึ่งว่ากันว่ามีขีดความสามารถไม่ได้ต่างจากกองทัพเลบานอนแท้ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งเป็นศัตรูของอิสราเอลเช่นกัน

 

หลังจากที่กลุ่มฮามาสเปิดการโจมตีต่ออิสราเอลเมื่อเดือนตุลาคมของปีก่อน ฮิซบอลเลาะห์ก็เริ่มทำการโจมตีพื้นที่ทางตอนเหนือของอิสราเอล โดยอาศัยจังหวะที่กองทัพอิสราเอลกำลังยุ่งอยู่กับการรุกภาคพื้นดินในฉนวนกาซาทำการยิงจรวดจำนวนมากเข้าสู่เป้าหมายในอิสราเอล ซึ่งอิสราเอลก็ประกาศมาเป็นระยะเวลานานแล้วว่าฮิซบอลเลาะห์จะเป็นเป้าหมายต่อไปของอิสราเอลในการทำสงคราม

 

และหลังจากเหตุระเบิดเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารในเลบานอน อิสราเอลก็เปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศขนาดใหญ่เข้าใส่เป้าหมายของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน โดยอิสราเอลกล่าวว่าสามารถสังหารแกนนำฮิซบอลเลาะห์ได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะระดับผู้นำกองกำลังที่อิสราเอลกล่าวว่าถูกสังหารไปแล้วทั้งหมด ยังเหลือแต่เพียง ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ ผู้นำของกลุ่มเท่านั้น

 

อิสราเอลสืบทราบมาว่าฮิซบอลเลาะห์มีศูนย์บัญชาการอยู่ใต้ดินบริเวณตอนใต้ของกรุงเบรุต จึงทำการหาข่าวจนทราบความเคลื่อนไหวของแกนนำต่างๆ รวมถึงทราบโครงสร้างและเครือข่ายของศูนย์บัญชาการแห่งนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่อิสราเอลนำมาใช้ในการออกแบบการโจมตีทางอากาศ

 

ทั้งนี้ ปัญหาหลักของการโจมตีทางอากาศเข้าใส่บังเกอร์หรือศูนย์บัญชาการใต้ดินก็คือระเบิดทั่วไปไม่สามารถเจาะทะลุชั้นดินและชั้นคอนกรีตที่ป้องกันบังเกอร์เอาไว้ได้ อิสราเอลจึงต้องใช้ระเบิดที่ออกแบบมาโจมตีบังเกอร์หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Bunker Buster ซึ่งเป็นระเบิดที่มีคุณสมบัติพิเศษคือมีขีดความสามารถในการเจาะทะลวงสูง สามารถตั้งเวลาระเบิดให้เกิดระเบิดขึ้นหลังจากเจาะทะลวงเข้าไปแล้วเพื่อสร้างแรงระเบิดสูงสุดต่อที่มั่นดัดแปลงต่างๆ

 

แต่ศูนย์บัญชาการของฮิซบอลเลาะห์ก็อยู่ลึกมากจนทำให้ระเบิดเพียงลูกเดียวไม่สามารถทำลายได้ กองทัพอิสราเอลจึงต้องคำนวณแรงระเบิดที่จำเป็นต้องใช้ และย้อนกลับมาเป็นจำนวนระเบิดและน้ำหนักของหัวรบที่ต้องใช้ ซึ่งต้องมากพอที่จะจัดการได้ภายในปฏิบัติการครั้งเดียว

 

ทำให้การปฏิบัติการครั้งนี้อิสราเอลจึงเลือกใช้ F-15I Ra’ams เป็นแกนหลักในการทำภารกิจ โดยสาเหตุที่ต้องใช้ F-15I ซึ่งเป็น F-15 รุ่นพิเศษที่อิสราเอลติดตั้งระบบของตัวเองลงไป ก็เพราะน้ำหนักบรรทุกของ F-15I ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก F-15E นั้นสูงถึง 23,000 ปอนด์ หรือ 3.6 ตัน มากกว่าเครื่องบินแบบอื่นที่อิสราเอลมี รวมถึง F-35I นอกจากนั้นยังมีรายงานว่ายังเสริมด้วยการใช้งาน F-16I Sufa ที่คาดว่าจะใช้ในการชี้เป้าและสงครามอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรบกวนระบบป้องกันภัยทางอากาศของเลบานอน

 

F-15I จำนวน 8 ลำ จากฝูงบินที่ 69 จากฐานทัพอากาศ Hatzerim บินขึ้นเพื่อทำภารกิจ Operation New Order โดยติดตั้งระเบิด GBU-31 ซึ่งเป็นระเบิดเจาะบังเกอร์ที่ใช้หัวรบ BLU-109 ขนาด 2,000 ปอนด์ หรือ 1 ตัน และติดตั้งชุดนำวิถีด้วยดาวเทียมแบบ JDAM เพื่อให้นักบินสามารถระบุพิกัดเป้าหมายเข้าไปให้ระเบิดร่อนเข้าสู่เป้าหมายโดยใช้สัญญาณดาวเทียม GPS เป็นตัวนำทาง

 

นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าอิสราเอลใช้ระเบิดแบบ GBU-72 ซึ่งเป็นการนำหัวรบ BLU-138 มาติดตั้งชุดนำวิถี JDAM จุดเด่นของ GBU-72 คือเป็นระเบิดเจาะบังเกอร์รุ่นใหม่ซึ่งสหรัฐอเมริกาพัฒนามาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีน้ำหนักหัวรบสูงถึง 5,000 ปอนด์ หรือ 2.5 ตัน และมีการใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบและคำนวณการจัดวางดินระเบิดเพื่อสร้างแรงอัดจากการระเบิดให้สูงที่สุด จึงทำให้ระเบิดสามารถเจาะบังเกอร์ได้ลึกกว่า GBU-31 ที่ใช้งานมานานแล้ว

 

แต่อย่างที่กล่าวไปก็คือ ศูนย์บัญชาการของฮิซบอลเลาะห์อยู่ใต้ดินค่อนข้างลึก ระเบิดเพียงลูกเดียวไม่สามารถเจาะทะลวงลงไปได้ อิสราเอลจึงวางแผนให้เครื่องบินหลายๆ ลำทิ้งระเบิดลงไปตำแหน่งเดียวกันพร้อมๆ กัน โดย F-15I ทำการโจมตีเป็นสองระลอก ระลอกแรกเป็นการปลดระเบิดพร้อมกับเข้าสู่ตำแหน่งที่กำหนดโดยคำนวณให้ระเบิดตกถึงเป้าหมายพร้อมๆ กันเพื่อสร้างแรงอัดสูงสุด ซึ่งทำให้ที่มั่นดัดแปลงต่างๆ ได้รับความเสียหาย

 

ระลอกต่อมาคือการโจมตีซ้ำที่เดิมเพื่อทำให้มั่นใจว่าจะสามารถทำลายศูนย์บัญชาการใต้ดินของฮิซบอลเลาะห์ได้ ซึ่งเราจะเห็นภาพเป้าหมายที่ถูกโจมตีที่เป็นหลุมลึกมากกว่าสิบเมตร และทำให้อาคารสูงหลายหลังในบริเวณรอบๆ พังถล่มลงมาเช่นกัน

 

มีรายงานว่าอิสราเอลใช้ระเบิดถึง 80 ลูกใน Operation New Order ซึ่งคำนวณกลับมาแล้วน่าจะเป็นดินระเบิดที่หนักกว่า 100 ตันในภารกิจเดียว ถือว่าเป็นภารกิจทิ้งระเบิดที่ใช้ระเบิดจำนวนมากแต่สามารถทิ้งลงได้อย่างแม่นยำ

 

ท่านที่อ่านมาจนถึงตอนนี้อาจจะรู้สึกคุ้นว่าเคยได้ยินเรื่องของภารกิจคล้ายๆ กันนี้ที่ไหน ใช่แล้วครับ เพราะ Operation New Order มีความคล้ายกับภารกิจโจมตีโรงงานผลิตยูเรเนียมของ Maverick ในภาพยนตร์ Top Gun: Maverick โดยส่วนที่เหมือนกันก็คือการต้องโจมตีศูนย์บัญชาการภาคพื้นดินที่อยู่ใต้ดินลึก ใช้การโจมตีเป็นสองระลอกโดยอาวุธนำวิถีที่มีความแม่นยำสูง

 

แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ อิสราเอลไม่ได้บินลัดเลาะไปตามหุบเขาแบบในภาพยนตร์ เพราะอิสราเอลใช้ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ในการรบกวนระบบป้องกันภัยทางอากาศของเลบานอนและฮิซบอลเลาะห์จนไม่สามารถทำงานได้ ส่วนเครื่องบินนั้นอิสราเอลใช้เครื่องบิน F-15 แต่ในภาพยนตร์ใช้ FA-18 ระเบิดที่ใช้ก็เป็นระเบิดที่มีการนำวิถีคนละชนิดกันคือในภาพยนตร์เป็นระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ แต่ของอิสราเอลใช้ระเบิดนำวิถีด้วยดาวเทียม รวมถึงจำนวนเครื่องบินและจำนวนระเบิดก็มากกว่าในภาพยนตร์มาก เพราะในความเป็นจริงระเบิดเพียงสองลูกไม่สามารถสร้างความเสียหายได้มากเหมือนที่เราเห็นในภาพยนตร์ และสุดท้ายคือไม่มีเครื่องบินของฝ่ายเลบานอนขึ้นมาสกัดกั้นเพราะเลบานอนไม่มีเครื่องบินรบใช้งาน ต่างจากในภาพยนตร์ที่ Maverick ต้องสู้กับเครื่องบินรบของฝ่ายตรงข้ามไปตลอดทางจนถูกยิงตกในที่สุด

 

หลังจากนี้เราคงต้องติดตามต่อไปว่าสถานการณ์ในเลบานอนจะเป็นไปในทิศทางไหน จะมีความเปลี่ยนแปลงต่อภูมิรัฐศาสตร์ของตะวันออกกลางมากน้อยเพียงใด ซึ่งสามารถหาอ่านบทวิเคราะห์ได้จากบทความ ‘อิสราเอลสังหารผู้นำฮิซบอลเลาะห์ โหมไฟขัดแย้งอิหร่าน จะเกิดอะไรต่อ?’ ใน THE STANDARD ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมาครับ

 

ภาพ: Airman 1st Class Kyle Cope / Reuters

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X