×

‘เงินลงทุนต้องตามมาด้วยผลตอบแทน’ เปิดปมการเปลี่ยนผ่านของ OpenAI จากแล็บวิจัยสู่บริษัทเทคที่แสวงผลกำไร

02.10.2024
  • LOADING...

OpenAI สตาร์ทอัพผู้สร้าง ChatGPT กำลังเปลี่ยนสถานะตัวเองจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรสู่บริษัทเทคโนโลยีที่ประกอบธุรกิจเพื่อกำไร

 

ย้อนกลับไปในปี 2015 จุดเริ่มต้นของ OpenAI คือการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ปลอดภัยและให้ประโยชน์กับทุกคน แต่ความล้ำหน้าของนวัตกรรมที่องค์กรสร้างขึ้นกลับส่งผลให้ OpenAI กลายเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินทุนมากที่สุดในซิลิคอนแวลลีย์

 

เมื่อบริษัทได้เงินจากนักลงทุน ข้อผูกมัดอย่างหนึ่งที่มักจะติดเป็นเงาตามตัวคือ ‘ความคาดหวังในผลตอบแทน’ ซึ่งสำหรับ OpenAI มี 2 ปัจจัยระหว่างการพัฒนา AI เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์ และการสร้างผลตอบแทนให้ได้ตามที่นักลงทุนคาดหวัง ที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ในตอนนี้

 

เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการเปิดตัวโมเดลใหม่ o1 ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างก็เกิดขึ้นกับ OpenAI ทั้งการปรับสถานะองค์กร และการที่ผู้บริหารระดับสูงบางคนเลือกทยอยลาออก

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Mira Murati หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีที่อยู่กับบริษัทมานาน ประกาศลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัวที่ต้องการเวลาและพื้นที่ในการค้นหาตัวเอง ในวันเดียวกัน Bob McGrew หัวหน้าทีมวิจัย และ Barret Zoph รองประธานทีมวิจัย ต่างตัดสินใจขอลาออกจากบริษัทเช่นเดียวกัน ทำให้ตอนนี้มีผู้ร่วมก่อตั้งชุดแรกเหลือเพียง 2 คนคือ Sam Altman และ Wojciech Zaremba

 

การให้เงินที่ไม่ใช่เพื่อการกุศลอีกต่อไป

 

การเติบโตของ OpenAI จากแล็บวิจัยที่ไม่หวังผลกำไร ทำให้บริษัทตัดสินใจจัดตั้งบริษัทย่อยที่แสวงผลกำไรในชื่อว่า OpenAI LP โดยองค์กรย่อยรายนี้สามารถ “ระดมทุนผ่านการออกหลักทรัพย์ ว่าจ้างพนักงาน แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและพันธกิจขององค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร ซึ่งบริษัทย่อยที่แสวงผลกำไร (OpenAI LP) จำเป็นต้องปฏิบัติตาม” ตามข้อมูลที่ระบุบนเว็บไซต์ของบริษัท

 

นอกจากนี้เว็บไซต์ OpenAI ยังระบุเพิ่มเติมว่า นักลงทุนที่ลงทุนกับบริษัทควรมองว่าเงินจำนวนดังกล่าวเปรียบเสมือนการ ‘บริจาคเพื่อการกุศล’ และนักลงทุนอาจจะไม่ได้เห็นผลตอบแทนของเงินที่ให้กับบริษัท โดย OpenAI ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ที่จะต้องสร้างกำไร ซึ่งการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์การเงินให้ข้อมูลกับ The New York Times ว่า OpenAI มีแนวโน้มจะขาดทุนถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม The Verge วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรม AI เลยจุดของการให้เงินทุนเพียงเพื่อบริจาคไปแล้ว เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้นจากบริษัทบิ๊กเทคอย่าง Google หรือ Meta รวมถึงสตาร์ทอัพ Anthropic ที่ต่างสร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์ของตนเอง ก็กำลังไล่ OpenAI มาอย่างติดๆ

 

เมื่อโครงสร้างของ OpenAI อยู่ในลักษณะที่องค์กรไม่แสวงผลกำไรมีอำนาจกำหนดทิศทางขององค์กรที่ทำเพื่อกำไร บริษัทจึงเสียเปรียบในการระดมทุน ดังนั้นการประกาศให้พนักงาน OpenAI ทราบว่าจะเปลี่ยนสถานะบริษัทไปสู่ธุรกิจเพื่อทำกำไร (For-Profit) จึงดูเป็นการตัดสินใจที่มีเหตุผลในมุมของ Sam Altman โดย Reuters รายงานว่า บริษัทกำลังพิจารณาเปลี่ยนสถานะเป็นธุรกิจที่แสวงผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประโยชน์สำหรับสาธารณะ (Public Benefit Corporation)

 

การเปลี่ยนสถานะนี้จะทำให้ OpenAI บริษัทแม่ที่ไม่แสวงผลกำไร สูญเสียอำนาจการกำกับดูแลหน่วยธุรกิจที่ทำเพื่อกำไร ตามรายงานของ Reuters โดยไม่กี่วันหลังจากข่าวนี้ถูกประกาศสู่สาธารณะ Mira Murati และผู้บริหารระดับสูงบางคนของ OpenAI ก็เลือกที่จะลาออก

 

ทั้ง Mira Murati และ Sam Altman ยืนยันว่า การตัดสินใจเกิดขึ้นในช่วงเวลาบังเอิญเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด การลาออกของผู้บริหารหลายคนในระยะเวลาราว 1 ปีที่ผ่านมา เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ของบริษัท

 

พลิกโฉมองค์กรที่เป็นมากกว่าแค่แล็บวิจัย

 

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมปีนี้ Jan Leike หนึ่งในพนักงานทีมวิจัยระดับสูง ประกาศลาออกจาก OpenAI โดยเขาโพสต์ข้อความผ่าน X ว่า “วัฒนธรรมองค์กรที่เคยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยกลับถูกแทนที่ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ที่ดูหวือหวา”

 

โดยทั่วไปแล็บวิจัยจะมีระยะเวลาพัฒนานวัตกรรมนานกว่าบริษัทที่ต้องแสวงรายได้ แล็บวิจัยสามารถชะลอการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ได้หากจำเป็น เพราะมีแรงกดดันในการเร่งเปิดตัวและขยายตลาดที่น้อยกว่า ทำให้มีเวลาในการตรวจสอบอย่างรอบคอบ

 

The Washington Post ได้ตั้งข้อสังเกตว่า OpenAI กำลังมุ่งไปในทิศทางที่เน้นความเร็วมากกว่าความปลอดภัย โดยพนักงานกลุ่มหนึ่งของ OpenAI ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวว่า OpenAI พยายามเร่งการเปิดตัวของโมเดล GPT-4o ก่อนที่จะแน่ใจว่าการเปิดให้ใช้งานนั้นปลอดภัยจริงหรือไม่

 

นอกจากนี้ The Wall Street Journal ยังรายงานเพิ่มเติมว่า พนักงานแผนกความปลอดภัยต้องทำงานกว่า 20 ชั่วโมงต่อวัน และไม่มีเวลาเพียงพอที่จะตรวจงานของตนให้ถี่ถ้วน ซึ่งในเวลาต่อมาผู้ทดสอบตรวจพบข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยใน GPT-4o และรู้สึกไม่พอใจกับความเร่งรีบของบริษัทจนทำให้การตรวจสอบไม่สามารถทำได้อย่างถี่ถ้วน

 

อีกหนึ่งข้อสังเกตที่บริษัทให้ความสำคัญกับ ‘ความเร็ว’ ของการเปิดตัวนวัตกรรมคือ การชิงปล่อยฟีเจอร์ต่างๆ ก่อนคู่แข่ง เช่น ในเดือนพฤษภาคมได้เปิดตัว GPT-4o ที่สามารถประมวลผลได้ทั้งภาพ เสียง และข้อความ ซึ่งมาก่อนการประกาศของ Google กับฟีเจอร์ที่คล้ายกันเพียง 1 วัน และในสัปดาห์นี้ OpenAI ก็ได้เปิดตัว Advanced Voice Mode สำหรับผู้ใช้ทุกคนเพียงไม่กี่วัน ก่อนที่ Meta จะประกาศฟีเจอร์ลักษณะคล้ายกันในงาน Connect

 

สัญญาณต่างๆ ชี้ว่า OpenAI กำลังกลายไปเป็นเหมือนกับบริษัทเทคทั่วไปอีกหนึ่งบริษัทที่ให้ความสำคัญกับกำไร

 

“ผมหวังว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นไปได้ด้วยดีสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง และหวังว่า OpenAI จะแข็งแรงขึ้น เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ที่ที่เราเคยผ่านมา” Sam Altman กล่าว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X