ในแต่ละปีคนไทยกว่า 3.4 แสนคน หรือประมาณเกือบๆ 39 คนต่อชั่วโมง ต้องเสียชีวิตเพราะโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่คิดเป็น 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตทั้งหมดของคนไทย
ปัญหาสุขภาพกำลังเป็นวาระความท้าทายระดับประเทศในหลายพื้นที่ทั่วโลก และประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเผยว่า ปี 2566 มีคนไทย 12.9 ล้านคนป่วยเป็นโรคเรื้อรัง (Chronic Diseases) เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ
แต่นอกจากความไม่สบายตัวเวลาเจ็บป่วยแล้ว โรคร้ายยังมาพร้อมกับภาระทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีผู้ป่วยจำนวนมากก็อาจทำให้ประเทศสูญเสียผลิตภาพเชิงเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสถาบัน BMJ Global Health เคยทำบทวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่า หากไทยไม่เร่งปรับระบบสาธารณสุข ต้นทุนที่ต้องเสียไปกับการรักษาโรคเรื้อรังอย่างโรคอ้วนจะพุ่งสูงขึ้นจากประมาณ 1.3% ไปสู่ 4.9% ของ GDP ประเทศในปี 2603 หรืออีกประมาณ 36 ปีข้างหน้า
ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้ป่วยเพิ่มสูงเร็วกว่าจำนวนแพทย์ที่ผลิตไม่ทันความต้องการ ระบบสาธารณสุขก็จะเกิดปัญหาได้ และแน่นอนว่าแนวโน้มและตัวเลขต่างๆ กำลังส่งสัญญาณว่า ระบบสาธารณสุขจะไม่ยั่งยืนในระยะยาวหากเทรนด์ปัญหาสุขภาพดำเนินไปเช่นนี้ เพราะอาการป่วยไม่เพียงแต่จะลำบากประเทศ แต่ที่สำคัญที่สุดคือลำบาก ‘ตัวเรา’
แต่ท่ามกลางความท้าทายทั่วโลกในเรื่องนี้ แซม อัลต์แมน ซีอีโอของ OpenAI และ อาริอานา ฮัฟฟิงตัน ซีอีโอของ Thrive Global บริษัทที่มุ่งใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ตัดสินใจร่วมกันเขียนบทความบนนิตยสาร TIME ถึงทางแก้ปัญหาสุขภาพ เพราะปัจจัยหลักที่เป็นตัวกำหนดสถานะสุขภาพของแต่ละบุคคลคือ ‘นิสัยส่วนตัว’ ซึ่งมีอิทธิพลมากกว่าพันธุกรรมเสียอีก และการเปลี่ยนพฤติกรรมนี่แหละที่จะเป็นยาวิเศษในการป้องกันและเร่งการรักษาโรค
ทั้งแซมและอาริอานายอมรับว่า การทำให้คนเปลี่ยนนิสัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อในปัจจุบันเรามีเทคโนโลยี AI การให้ข้อมูลในระดับบุคคลแบบเจาะลึกที่ไม่เคยทำได้มาก่อนในอดีตก็จะเกิดขึ้นได้
โดยพื้นฐานแล้วสุขภาพองค์รวมของเราได้รับอิทธิพลจาก 5 กิจกรรมที่เราทำในแต่ละวันนั่นคือ การนอน, การกิน, การออกกำลังกาย, การจัดการความเครียด และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งการเข้ามาของ AI คือการรายงานผลสุขภาพแบบเฉพาะเจาะจงอันเกิดจากผลลัพธ์ของพฤติกรรม พร้อมทั้งแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สุขภาพดีขึ้นได้อย่างเห็นผลมากที่สุด
การนำ AI เข้ามาผนวกกับการสร้างพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพเป็นไอเดียเบื้องหลัง Thrive AI Health บริษัทที่มีผู้สนับสนุนเงินทุนเป็น OpenAI และ Thrive Global เพื่อสร้างแชตบอตโค้ชส่วนตัว ซึ่งเป็นผู้ที่จะคอยรายงานผลสุขภาพในรูปแบบแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน รวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ในระบบนิเวศของ Thrive Global
อย่างไรก็ดี ทั้งสองบริษัทไม่เปิดเผยจำนวนเม็ดเงินลงทุนที่ใส่เข้าไปกับโปรเจกต์ Thrive AI Health
เจ้าโค้ช AI ส่วนตัวที่ว่านี้จะถูกฝึกด้วยข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์ชั้นนำ พร้อมด้วยข้อมูลไบโอเมตริก (ข้อมูลเอกลักษณ์ของตัวบุคคล เช่น ใบหน้าหรือลายนิ้วมือ) ข้อมูลการแพทย์ต่างๆ ที่ผู้ใช้งานเลือกที่จะป้อนข้อมูลให้กับมัน และโค้ช AI จะเป็นผู้ที่คอยเรียนรู้พฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างครอบคลุม เช่น สภาพแวดล้อมแบบไหนที่ผู้ใช้งานหลับได้ลึกที่สุด อาหารที่ชอบและไม่ชอบ ช่วงเวลาที่ปกติแล้วมีการเคลื่อนไหวมากที่สุด ซึ่งเมื่อนำข้อได้เปรียบความสามารถในการจำของ AI เข้ามาใช้ร่วมกับข้อมูลพฤติกรรม เราก็จะได้โค้ชสุขภาพส่วนตัวที่คอยสะกิดเตือนเราให้ทำกิจกรรมที่ช่วยเรื่องสุขภาพ
หัวใจสำคัญของ Thrive AI Health คือการพัฒนาแบบเก็บเล็กผสมน้อยใน 5 กิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน (นอน, กิน, ออกกำลังกาย, จัดการความเครียด และออกสังคม) ทำนองเดียวกันกับหนังสือ Atomic Habits ที่ผู้เขียนกล่าวเอาไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เป็นนิสัยจะกลายมาเป็นผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ได้ในระยะยาว
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วแอปนี้มันจะต่างอะไรกับโซลูชันเดิมในตลาดอย่างสมาร์ทวอทช์?
แซมและอาริอานาเขียนระบุในประเด็นนี้ว่า จุดต่างของโค้ชสุขภาพ AI คือการแนะนำที่ครอบคลุมและละเอียดกว่า ทั้งในเรื่องพฤติกรรมการกินและการออกไปสังสรรค์เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แถมยังให้คำแนะนำที่ต่อยอดมากกว่าการแสดงตัวเลขบนหน้าจอสมาร์ทวอทช์ ซึ่งผู้ใช้งานอาจต้องตีความเอาเอง
นอกจากนี้โค้ชสุขภาพ AI ก็เข้ามาเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพด้วย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถมีเทรนเนอร์ส่วนตัวได้ แต่การขยายบริการดังกล่าวให้ไกลขึ้นและถูกลงทำได้ด้วยเทคโนโลยีซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะโรคเรื้อรังนั้นเข้าถึงคนทุกกลุ่มในทุกระดับรายได้ และการนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานในฐานะโค้ชสุขภาพส่วนตัว ถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกคนสามารถเปลี่ยนตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างทั่วถึงและง่ายดาย
“การใช้ AI ในลักษณะนี้จะเพิ่มประโยชน์การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ” แซมและอาริอานาเขียนระบุ
อย่างไรก็ตาม แชตบอตของ Thrive AI Health ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นพัฒนา อีกทั้งประเด็นความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวที่มีความอ่อนไหว ก็เป็นสิ่งที่คนบางกลุ่มอาจจะยังระมัดระวังก่อนจะกระโจนเข้าไปใช้งานเทคโนโลยีนี้ โดยเฉพาะเมื่อมีรายงานออกมาว่า ช่องทางการสนทนาระหว่างพนักงานภายใน OpenAI ถูกแฮ็ก ทำให้ข้อมูลสนทนารั่วไหลออกไป สิ่งนี้เป็นคำถามที่บริษัทต้องตอบให้ได้ว่าบริการจะปลอดภัยจริงหรือไม่
สำหรับแซมและอาริอานา โจทย์ใหญ่ของพวกเขาใน Thrive AI Health คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริการที่ต้องเก็บรักษาข้อมูลความลับของผู้ใช้งานให้ได้อย่างปลอดภัยที่สุดในระหว่างที่บริษัทก็ต้องพัฒนา AI ให้เก่งและตอบคำถามสุขภาพได้อย่างแม่นยำ โดยลดอาการหลอน (Hallucination) ให้เหลือน้อยที่สุด
อ้างอิง: