หลังจากที่วานนี้ (15 มิถุนายน) สภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต รวม 4 ร่าง
ในเวลาต่อมามีการเปิดผลการลงมติในส่วนของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับของพรรคก้าวไกล หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีมติรับหลักการวาระแรกด้วยมติเสียงข้างมาก 212 ต่อ 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง
โดยจากผลการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายค้าน ที่มีจำนวนทั้งหมด 208 คน มีการลงมติ ดังนี้
- รับหลักการ 161 คน
- ไม่รับหลักการ 11 คน
- ไม่อยู่/ขาดประชุม 34 คน
- งดออกเสียง 1 คน
- ไม่ลงคะแนน 1 คน
โดยคะแนนที่ไม่เห็นด้วยส่วนหนึ่งมาจากพรรคประชาชาติ 7 คน ไม่เห็นด้วย 4 คน ไม่อยู่ลงมติ 3 คน เป็นผลมาจากที่พรรคมีแนวทางตามหลักการของศาสนาอิสลาม ขณะที่อีกส่วนเป็นคะแนนจาก ส.ส. ที่คาดว่าอาจเป็นงูเห่า ส่วนคนที่ไม่อยู่ร่วมลงมติส่วนใหญ่เป็น ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ที่ไม่มีผลลงมติถึง 21 คน
ขณะที่การลงมติของฝ่ายรัฐบาลพบว่า จากจำนวน ส.ส. รัฐบาลจำนวน 269 คน มีการลงมติ
- รับหลักการ 51 คน
- ไม่รับหลักการ 169 คน
- ไม่อยู่/ขาดประชุม 35 คน
- งดออกเสียง 11 คน
- ไม่ลงคะแนน 3 คน
โดยคะแนนที่ฝ่ายรัฐบาลออกเสียงให้กับร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล 51 คน ซึ่งเป็นการสวนมติวิปรัฐบาล ประกอบด้วย
- พรรคประชาธิปัตย์ 13 คน
- พรรคเศรษฐกิจไทย 13 คน
- พรรคพลังประชารัฐ 6 คน
- พรรคพลังท้องถิ่นไท 4 คน
- พรรคเศรษฐกิจใหม่ 3 คน
- พรรคภูมิใจไทย 2 คน
- พรรครวมพลังประชาชาติไทย 2 คน
- พรรครักษ์ผืนป่าฯ 1 คน
- พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 คน
- พรรคไทรักธรรม 1 คน
- พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน
- พรรคพลเมืองไทย 1 คน
- พรรคพลังชาติไทย 1 คน
- พรรคพลังธรรมใหม่ 1 คน
- พรรคเพื่อชาติไทย 1 คน
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดย ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีคะแนนเสียงรับหลักการมากที่สุดจากร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ด้วยมติ รับหลักการ 251 ต่อ 124 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง นั้นพบว่า นอกจากคะแนนจากฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเองแล้วยังมีคะแนนจากฝ่ายค้าน ประกอบด้วย
- พรรคก้าวไกล 23 คน
- พรรคเพื่อไทย 7 คน