×

1 พ.ย. ครั้งแรกในรอบ 1 ปี 8 เดือน เปิดประเทศรับ ‘นักท่องเที่ยว’ 63 ประเทศแบบ ‘ไม่กักตัว’ ภาพโรงแรมมองบวก ช่วยฟื้นธุรกิจ

01.11.2021
  • LOADING...
เปิดประเทศ

1 พฤศจิกายน 2564 จะเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี 8 เดือน ที่ไทยจะเปิดประเทศอย่างเป็นทางการเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศ ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้โดยที่ไม่ต้องกักตัว

 

ทิศทางดังกล่าวนับเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนถึงความพยายามจากทุกภาคส่วนที่จะพลิกฟื้นภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาเดินหน้าต่อได้ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่ยาวนาน โดยเฉพาะ ‘ภาคธุรกิจโรงแรม’ ที่หวังว่าการเปิดประเทศครั้งนี้จะเข้ามาช่วยฟื้นธุรกิจได้

 

THE STANDARD WEALTH รวบรวมเสียงสะท้อนจากยักษ์ใหญ่ในธุรกิจโรงแรมถึงการเตรียมพร้อมและความหวังที่เกิดขึ้นจากการเปิดประเทศในครั้งนี้

 

แนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT กล่าวว่า มีความพร้อมในทุกๆด้านและสามารถรองรับการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่จะเริ่มทยอยเข้ามาได้อย่างเต็มที่ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางบริษัทมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อตอนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอยู่เสมอ 

 

ขณะนี้พนักงานในโรงแรมส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และปัจจุบัน MINT มีโรงแรมในประเทศไทยทั้งหมด 29 แห่ง คิดเป็นจำนวน 4,809 ห้อง เปิดให้บริการแล้วทั้งหมด

 

“ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ จากการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนมีความมั่นใจมากขึ้นในการใช้ชีวิตและเดินทาง อีกทั้งยังมีนโยบายภาครัฐคอยหนุน (เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 / ทัวร์เที่ยวไทย) และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยทันทีเมื่อเริ่มเปิดประเทศ

 

“เราเริ่มเห็นการปรับตัวขึ้นของอัตราเข้าพักสำหรับโรงแรมในประเทศไทยของเรามาเป็นระยะๆ แล้ว โดยเพิ่มจากประมาณ 15% ในไตรมาส 2 มาอยู่เหนือ 20% ในปลายไตรมาส 3 ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคมนี้ก็อยู่ที่ระดับประมาณ 25-30% ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ จากปัจจัยที่กล่าวไปแล้วข้างต้น”

 

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT

 

ขณะเดียวกัน ชัยพัฒน์กล่าวว่า ทาง MINT ขอชื่นชมรัฐบาลถึงความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ป่วยโควิดในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และขอสนับสนุนความพยายามทั้งหมดในการทำให้ประเทศของเรากลับสู่ภาวะปกติก่อนการระบาดของโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทยอยเปิดกิจกรรมเชิงพาณิชย์และการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว 

 

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ทาง MINT อยากเรียนขอให้รัฐบาลช่วยพิจารณาเพิ่มเติมมีดังนี้ 

  • เพิ่มจำนวนรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเพิ่ม เพื่อที่นักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านั้นจะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศไทยแบบไม่จำกัดพื้นที่ รายชื่อประเทศนั้นควรครอบคลุมตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ เช่น รัสเซีย เป็นต้น
  • ยกเลิกคำสั่งห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ทั่วประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พฤศจิกายน 
  • ขยายเวลาการอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิที่อาจจะเกิดขึ้นในปีต่อเพิ่มเป็น 10 ปี จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 5 ปี
  • พิจารณาอนุญาตให้ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของโควิดจนถึงต้นปี 2022 
  • ออกมาตรการให้เงินสนับสนุนค่าจ้างพนักงานหรือ Co-Payment สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว

 

สำหรับในปี 2565 ชัยพัฒน์ประเมินว่า ด้วยสถานการณ์โดยรวม ทั้งในและต่างประเทศเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่าเราจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน จากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ ปริมาณการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเริ่มเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

 

“ทางบริษัทเริ่มเห็นการฟื้นตัวของผลประกอบการโดยรวมมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจโรงแรมในฝั่งยุโรป ที่เริ่มทยอยเห็นการกลับมาของยอดผู้เข้าพักและราคาห้องพักปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่าจะเห็นภาพในลักษณะเดียวกันนี้ในพื้นที่อื่นๆ ในระยะถัดไป รวมถึงในประเทศไทยเองด้วย”

 

แนะพัฒนารูปแบบการเดินทางที่ผสมผสานเทคโนโลยีออนไลน์

ด้าน วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังโควิด มีการปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมาพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป AWC เชื่อว่าการให้บริการต่างๆ กับลูกค้าคงมีการปรับเปลี่ยนไปมาก โดยเน้นความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

 

ปัจจุบันโรงแรมในเครือ AWC ทั้ง 18 แห่งได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ Amazing Thailand Safety & Health Administration หรือ SHA+ แล้ว 

 

วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC

 

“ฐานลูกค้าเดิมที่มีกำลังซื้อมีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงกลุ่มแรกที่จะเริ่มกลับมาเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวและใช้จ่ายหากสถานการณ์เริ่มกลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยอัตราการจองที่พักบางโรงแรมในเครือพุ่งสูงขึ้นกว่า 2 เท่าในเดือนธันวาคม 2564 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะโรงแรมในกรุงเทพฯ ภูเก็ต และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ โรงแรมวันนาเบล สมุย, โรงแรมบันยันทรี กระบี่ เป็นต้น”

 

“เรามองเห็นกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นใน Q1 ของปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 แม้กระทั่งก่อนการประกาศว่าจะมีการเปิดประเทศ ดังนั้นเราจึงมั่นใจว่าสถานการณ์โดยรวมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าน่าจะเป็นไปด้วยดี”

 

วัลลภากล่าวต่อว่า ภาครัฐควรเน้นเรื่องของการป้องกันให้มากยิ่งขึ้น โดยเร่งการฉีดวัคซีนในประเทศเพื่อลดความเสี่ยงของทุกคนในชุมชน เพราะคนที่เดินทางมาเขาผ่านการตรวจตามกฎระเบียบที่วางไว้มาแล้วในระดับหนึ่งจึงน่าจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า 

 

ขณะเดียวกันการพัฒนารูปแบบการเดินทางที่ผสมผสานเทคโนโลยีออนไลน์มากยิ่งขึ้น ด้วยจุดแข็งของเมืองไทยที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม การบริการมาตรฐานระดับโลก แต่เรื่องเทคโนโลยีเรายังไม่มีตัวเชื่อมประสบการณ์ให้ลูกค้า เช่น การให้บริการวีซ่าจะสะดวกมากขึ้นอย่างไร, การเชื่อมโยง Online Booking เราจะตอบโจทย์นักท่องเที่ยวอย่างไร การเดินทางที่ตอบโจทย์ที่สะดวกสบายและการเชื่อมโยงระบบออนไลน์ที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพเราได้มากขึ้น (Journey Experience) 

 

“วันนี้ของเรายังมีระเบียบในเรื่องเอกสาร (Paper Work) เยอะ ซึ่งต้องรอนโยบายภาครัฐที่จะมุ่งสู่ Omni-Experience ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ได้ก้าวไปอีกขั้น และตอบโจทย์การเดินทางในระยะยาวที่เน้นเรื่องความปลอดภัยด้วย”

 

คาดเห็นอัตราเข้าพักในโรงแรมเพิ่มเป็น 26-39%

ขณะที่ กันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL กล่าวว่า บริษัทเป็นเจ้าของในประเทศไทยทั้งหมดที่เปิดบริการจดทะเบียน SHA+ โดยพนักงานมากกว่า 97% ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และมีการตรวจ ATK Test ทุกสัปดาห์ นอกจากนี้บริษัทยังได้ใช้มาตรฐานด้านความสะอาดและสุขอนามัยในระดับสูงสุดที่เรียกว่า เซ็นทารา คอมพลีท แคร์ (Centara Complete Care)

 

โดยโรงแรมในประเทศไทยที่บริษัทเป็นเจ้าของเองและเปิดให้บริการแล้วมีทั้งสิ้น 16 โรงแรม รวม 4,191 ห้อง ทั้งนี้ปัจจุบันเปิดให้บริการเพียง 8 โรงแรม รวม 2,705 ห้อง (65% ของทั้งหมด) และมีแผนที่จะทยอยกลับมาเปิดเพิ่มในเดือนพฤศจิกายนอีก 2 โรงแรม (เซ็นทารา แกรนด์ บีชรีสอร์ท กระบี่ และ เซ็นทรา บาย เซ็นทารา แม่สอด) 

 

และในเดือนธันวาคมอีก 2 โรงแรม (เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย และ เซ็นทารา วิลล่า สมุย) รวมสิ้นปีจะมีโรงแรมที่เปิดให้บริการ 12 โรงแรม รวม 3,296 ห้อง (79% ของทั้งหมด)

 

กันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL

 

คาดว่า การเปิดประเทศ “จะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมโดยรวม ซึ่งเป็นอุปสงค์ส่วนเพิ่มจากนักท่องเที่ยวชาวไทย เนื่องจากชาวไทยส่วนใหญ่จะชอบแหล่งท่องเที่ยวในระยะที่ขับรถถึงได้ง่าย (Driving Destination) เช่น พัทยาและหัวหิน ดังจะเห็นได้จากอัตราการเข้าพักของโรงแรมขนาดใหญ่ที่ภูเก็ตที่ปรับตัวดีขึ้นจาก 16-17% ในช่วงไตรมาส 3 เป็น 26-39% ในช่วงไตรมาส 4”

 

กันย์ระบุต่อว่า อยากให้รัสเซียอยู่ในลิสต์เพิ่มเติม ตลอดจนประสานงานสร้างความเชื่อมั่นกับรัฐบาลของประเทศในลิสต์ให้ลดวันกักตัวขากลับ (หากมี) ให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และอยากให้พิจารณาเปิดขายแอลกอฮอล์ในโรงแรมได้ สุดท้ายคือออกสิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษแก่บริษัทภาคเอกชนสำหรับค่าใช้จ่ายการจัดประชุมสัมมนาในโรงแรม

 

“คาดว่าในภาพรวมปีหน้าน่าจะได้เห็นอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ 35% (อยู่ในช่วง 25%-50% สำหรับแต่ละโรงแรมในประเทศไทย) ในประมาณการของบริษัทคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามามากขึ้นในครึ่งหลังของปี 2565 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ชาวสหราชอาณาจักร ชาวเยอรมัน ชาวสแกนดิเนเวีย ชาวตะวันออกกลาง ชาวออสเตรเลีย ชาวรัสเซีย และชาวอินเดีย”

 

ช่วยเพิ่มนักท่องเที่ยวมากขึ้น 64% เมื่อเทียบกับที่ไม่มีมาตรการ

ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิดในประเทศที่แม้จะนิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ขณะเดียวกันสถานการณ์โควิดและนโยบายการเดินทางออกนอกประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ในบางประเทศยังกำหนดให้ต้องมีการกักตัวหลังเดินทางกลับ เป็นต้น ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว

 

ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยน่าจะเห็นผลที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ 

 

ทั้งนี้ผลจากการเปิดประเทศน่าจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เพิ่มขึ้นประมาณ 64% เมื่อเทียบกับที่ไม่มีมาตรการ ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปี 2564 ขยับขึ้นมาที่ประมาณ 1.8 แสนคน (จากคาดการณ์เดิมที่ 1.5 แสนคน) สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.35 หมื่นล้านบาท 

 

โดยรายได้การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังกระจายอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ในกรณีที่สถานการณ์ต่างๆ ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง คงจะช่วยหนุนให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยมีความชัดเจนมากขึ้นอีกในช่วงปี 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติสำคัญอย่างจีนและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนกลับมาท่องเที่ยว 

 

กระนั้นแม้ทางการไทยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีโจทย์สำคัญในการที่จะต้องควบคุมการระบาดของโควิด และลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ เพื่อทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ปลอดภัยจากโควิด รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ให้ทั่วถึง โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนครบโดสให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่หรือเข้าหา 70% ในพื้นที่ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่

 

ภาพ: Patipat Janthong / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X