×

เปิดโปรไฟล์ ฮุน มาเนต ก่อนเยือนไทย คุยประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

05.02.2024
  • LOADING...

ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เตรียมเดินทางเยือนไทยในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2024 เพื่อหารือกับ เศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับการค้าข้ามพรมแดน รวมถึงวาระสำคัญอย่างเรื่องของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่ไทยและกัมพูชามีข้อพิพาทกันมายาวนานกว่า 50 ปี

 

THE STANDARD พาไปทำความรู้จักกับผู้นำคนล่าสุดของกัมพูชา บุตรชายคนแรกของ ฮุน เซน กันให้มากขึ้น

 

หนุ่มนักเรียนนอก

 

ฮุน มาเนต เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1977 เป็นบุตรชายคนแรกของ ฮุน เซน อดีตผู้นำกัมพูชาที่ปกครองประเทศมาเกือบ 40 ปี

 

ฮุน เซน ปูเส้นทางชีวิตให้ ฮุน มาเนต มาอย่างดี เขามีประวัติทั้งด้านการศึกษาและเส้นทางอาชีพที่เพียบพร้อมตั้งแต่วัยเยาว์จนเติบใหญ่ ชายผู้นี้เติบโตและได้รับการศึกษาในกรุงพนมเปญ ก่อนเข้ารับราชการในกองทัพกัมพูชาในปี 1995 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเขาได้เข้าโรงเรียนทหารสหรัฐอเมริกาที่เวสต์พอยต์ และเป็นชาวกัมพูชาคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้

 

ส่วนทางด้านวิชาการ ฮุน มาเนต จบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol)

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2003 ฮุน มาเนต เคยกล่าวกับนักเขียนชีวประวัติของ ฮุน เซน ว่า เขาชื่นชมหลายแง่มุมของวัฒนธรรมอเมริกัน รวมถึง ‘วิถีชีวิตของผู้คนที่มีอิสรภาพและมีโอกาสที่จะทำตามสิ่งที่ตนเองปรารถนา’ รวมถึง ‘การยอมรับความหลากหลาย’ และ ‘การตัดสินสิ่งต่างๆ จากมุมมองที่แตกต่างกัน’

 

ส่วนประเด็นเรื่องการพัฒนาประเทศ ฮุน มาเนต แสดงความคิดเห็นว่า ประเทศใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องมีการพัฒนาขั้นต่ำก่อนจึงจะสามารถใช้ระบอบประชาธิปไตยได้ ขณะที่ในปี 2015 ฮุน มาเนต กล่าวกับสำนักข่าว ABC ว่า กัมพูชาต้องรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง ‘ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม’

 

ลี มอร์เกนเบสเซอร์ (Lee Morgenbesser) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ (Griffith University) ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบเผด็จการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความเห็นว่า แม้ ฮุน มาเนต จะได้รับการศึกษาแบบตะวันตก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะกลายเป็นผู้ปกครองประเทศที่เดินทางสายกลาง หรือแตกต่างจากผู้เป็นพ่อ

 

“ทุกๆ ครั้งที่ลูกชายของเผด็จการขึ้นสืบต่ออำนาจจากผู้เป็นพ่อ ผู้คนมักจะมองว่าเขาอาจมีศักยภาพมากพอในการเข้ามาปฏิรูปประเทศ เขาจะเป็นผู้นำที่ประนีประนอม เขาจะเป็นผู้นำที่มีหัวก้าวหน้า เขารับเอามุมมองของชาติตะวันตกมา…แต่มุมมองพวกนี้ไม่เคยเป็นจริงเลย” มอร์เกนเบสเซอร์กล่าว

 

ลูกชายของพ่อ

 

นอกเหนือจากประวัติด้านการศึกษาที่แสนสมบูรณ์แบบแล้ว ในด้านวิชาชีพทหารก็เรียกได้ว่าโดดเด่นไม่แพ้กัน ฮุน มาเนต เคยกุมหลายตำแหน่งสำคัญในกองทัพ ทั้งรองผู้บัญชาการหน่วยองครักษ์ของ ฮุน เซน, หัวหน้าหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย, ผู้บัญชาการกองทัพบก และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกัมพูชา

 

นอกเหนือจากนี้ ฮุน มาเนต ยังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากพรรคแคมโบเดียนพีเพิลส์ (Cambodian People’s Party: CPP) ให้เป็นประธานคณะทำงานเยาวชนกลาง และเป็นหนึ่งในกรรมการถาวรของพรรคอีกด้วย

 

ส่วนประวัติการทำงานในระดับสากลนั้น ในปี 2019 และ 2020 ฮุน มาเนต เคยมีโอกาสได้เข้าพบผู้นำต่างประเทศถึง 3 คน และหลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นเป็น 10 คนในปี 2022 ขณะที่ ฮุน เซน แย้มว่าเขาคือ ‘ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป’

 

ต่อมาในปี 2023 เป็นอีกครั้งที่พรรค CPP ชนะการเลือกตั้งทั่วไปแบบแลนด์สไลด์ โดย ฮุน เซน ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ เพื่อเปิดทางให้บุตรชายได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไป ก่อนที่รัฐสภากัมพูชาจะมีมติลงคะแนนเสียงรับรองให้ ฮุน มาเนต ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 สิงหาคม

 

ที่ผ่านมา ฮุน เซน เคยแสดงจุดยืนว่า เขาคาดหวังให้ ฮุน มาเนต เดินตามรอยเท้าของตนเองด้วยการปกครองกัมพูชาตามสไตล์ของเขา เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น เขาอาจยึดอำนาจคืน โดยหนังสือพิมพ์ Phnom Penh Post เคยรายงานคำกล่าวของ ฮุน เซน ว่า “หากลูกชายของผมไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ผมจะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง” 

 

เมื่อนักข่าวถามว่า การปกครองประเทศของ ฮุน มาเนต อาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่นั้น ฮุน เซน หัวเราะ และตอบกลับไปว่า “แบบไหนล่ะ ในเมื่อความแตกต่างหมายถึงการขัดขวางสันติภาพและทำลายความสำเร็จของคนรุ่นเก่า”

 

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลสำคัญอย่างไร

 

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลแห่งนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อนในหลายมิติ แต่โดยรวมแล้วเกิดจากปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชามากว่า 50 ปี 

 

โดยเกิดขึ้นจากการที่กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยเมื่อปี 2515 ก่อนที่ไทยจะประกาศในปี 2516 ซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิขีดเส้นล้ำเข้ามาทับเส้นของอีกฝ่าย ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น จึงส่งผลต่อสิทธิสัมปทานที่ทั้งไทยและกัมพูชาได้ให้กับบริษัทเอกชนด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จึงทำให้ยังไม่มีใครสามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้

 

กระทั่งเมื่อปี 2001 ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้ลงนาม MOU ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ซึ่งนับจากนั้นก็มีการหารือมาโดยตลอด แต่จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถพัฒนาได้อย่างจริงจัง

 

ดังนั้น หากไทยและกัมพูชายังไม่สามารถมีข้อยุติเพื่อเริ่มต้นการเข้าไปสำรวจปิโตรเลียมได้ จะเป็นการสูญเสียโอกาสในการนำทรัพยากรก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

 

โดยเฉพาะเนื้อที่ทางทะเลที่มีมากกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร มีการประเมินกันว่า มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองขนาดใหญ่ไม่แพ้แหล่งในอ่าวไทย หากเจรจาสำเร็จ ไทยจะสามารถจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูก หรือสามารถนำมาช่วยทดแทนปริมาณก๊าซในอ่าวไทยได้ในอนาคตอีกด้วย

 

รัฐบาลไทยยัน มีความพร้อมเจรจาปมพื้นที่ทับซ้อน

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐาพร้อมที่จะรับฟังและหารือกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อพิจารณาสานต่อและผลักดันการเจรจาเรื่องการแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน บนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และใช้ประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล ซึ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยเชื่อมั่นว่าจะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองประเทศ และเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน โดยนายกรัฐมนตรีจะพยายามแสวงหาทางออกที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งสองประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกัน 

 

โดยส่วนหนึ่งที่รัฐบาลเดินหน้าเร่งเจรจากรณีพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ก็เพื่อนำทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อนมาแบ่งปันเพื่อใช้ประโยชน์ เชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกโอกาสในการแก้ปัญหาค่าพลังงานในประเทศไทย โดยก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

 

แฟ้มภาพ: YASUYOSHI CHIBA / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X