กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่และชั้นนำของโลก หรือ OPEC ได้ออกมาตำหนิองค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา โดย OPEC กล่าวว่าหน่วยงานด้านพลังงานชั้นนำของโลกแห่งนี้ควรจะใช้ความ “ระมัดระวังอย่างมาก” เกี่ยวกับการแสดงความเห็นต่ออุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งจะสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายการกีดกันและการบ่อนทำลายการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว
Haitham Al Ghais เลขาธิการ OPEC กล่าวว่าการที่ IEA ชี้นิ้วและบิดเบือนการกระทำของ OPEC และ OPEC+ นั้น “เป็นการต่อต้านการผลิตน้ำมัน” ก่อนเสริมว่ากลุ่มผู้มีอิทธิพลของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน 23 ประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายราคาน้ำมัน แต่มุ่งเน้นไปที่ปัจจัยพื้นฐานของตลาด คือความต้องการใช้
ทั้งนี้ OPEC กล่าวว่าความคิดเห็นของตนเป็นการตอบสนองต่อคำวิจารณ์ใหม่จาก IEA โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ
โดยก่อนหน้านี้ ทาง Fatih Birol ผู้อำนวยการบริหารของ IEA ได้ให้สัมภาษณ์ Bloomberg ทางโทรทัศน์ ซึ่งมีการเตือนกลุ่ม OPEC เกี่ยวกับการปรับเพิ่มราคาน้ำมัน
Birol กล่าวว่ากลุ่มพันธมิตรด้านพลังงานอย่าง OPEC ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ควร “ระมัดระวัง” กับนโยบายการผลิตของตน โดยเตือนว่าผลประโยชน์ระยะสั้นและระยะกลางของกลุ่มดูเหมือนจะขัดแย้งกัน อีกทั้ง Birol ยังเสริมว่าราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง โดยประเทศที่มีรายได้น้อยน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศร่ำรวย
Al Ghais เลขาธิการ OPEC กล่าวว่าทาง IEA ทราบดีว่าการกล่าวโทษน้ำมันว่าเป็นต้นเหตุของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้นถือเป็นความ “ผิดพลาดและไม่ถูกต้องทางเทคนิค” เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบของโควิด, นโยบายการเงิน, ทิศทางการเคลื่อนตัวของหุ้น, การซื้อขายแบบอัลกอริทึม, แนวทางการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ และ SPR Releases (ทั้งแบบประสานหรือไม่ประสานกัน), ภูมิรัฐศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นราคาน้ำมันไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย และราคาน้ำมันที่ไม่แพงเกินไปหรือถูกเกินไป เป็นเป้าหมายที่ OPEC ต้องการมากกว่า
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา IEA กล่าวว่าการลดกำลังการผลิตน้ำมันที่เหนือความคาดหมายจากกลุ่ม OPEC+ นั้นมีความเสี่ยงที่จะทำให้การขาดดุลอุปทานที่คาดการณ์ไว้รุนแรงขึ้น และอาจขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสมาชิก OPEC+ หลายรายประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายนว่า แต่ละพื้นที่จะเข้มงวดกับการคงการผลิตทั่วโลกไว้ที่ 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ กลุ่ม OPEC และ IEA มีแนวทางที่แตกต่างกันในการลดปริมาณคาร์บอนทั่วโลก โดย IEA กล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเส้นทางสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์นั้นจำเป็นต้องลดการใช้น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินลงอย่างมาก และเตือนในรายงานฉบับสำคัญในปี 2021 ว่าไม่มีที่สำหรับโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ๆ หากโลกต้องหยุดยั้งวิกฤตการณ์สภาพอากาศเลวร้ายที่เกิดขึ้น โดย IEA ปฏิเสธที่จะตอบสนองต่อความคิดเห็นของเลขาธิการ OPEC เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน
ทั้งนี้ ในความเห็นของหลายฝ่ายรวมถึง IEA การใช้น้ำมันถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของกลุ่ม OPEC+ ได้สนับสนุนกลยุทธ์การลงทุนแบบคู่ขนานในโครงการไฮโดรคาร์บอนและพลังงานหมุนเวียน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาภาวะการขาดแคลนพลังงาน ในขณะที่ทรัพยากรสีเขียวไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกได้อย่างเต็มที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 5 เหตุผล ทำไมจีนเปิดประเทศแล้ว แต่ตลาดน้ำมันโลกยังนิ่ง
- ‘บีซีพีจี’ ทุ่ม 9 พันล้านบาท ฮุบธุรกิจ ‘คลังน้ำมันและท่าเรือ’ เปิดทางสู่ธุรกิจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ระบุมีกระแสเงินสดพร้อมลงทุน ไร้แผนเพิ่มทุน
- สะพัด ‘บางจาก’ ทุ่ม 5 หมื่นล้านบาท ปิดดีลเทกโอเวอร์ ESSO จ่อชงบอร์ด 9 ม.ค. 66 ต่อยอดธุรกิจ Jet Fuel ปูทางขายน้ำมันเข้าสนามบินทั่วประเทศ
อ้างอิง: