วันนี้ (23 กันยายน) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดแพร่ (113 มิลลิเมตร (มม.) กรุงเทพมหานคร 97 มม. และจังหวัดนครราชสีมา 90 มม.
แจ้งเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำชี-มูล ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน
1. ลุ่มน้ำชี
- บริเวณอำเภอกมลาไสย, กุฉินารายณ์, ฆ้องชัย, เมืองกาฬสินธุ์, ยางตลาด และร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์
- บริเวณอำเภอโคกโพธิ์ไชย, ชนบท, บ้านแฮด, พระยืน, มัญจาคีรี, แวงน้อย และแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น
- บริเวณอำเภอคอนสวรรค์, เนินสง่า และเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ
- บริเวณอำเภอแก้งสนามนาง และบ้านเหลื่อม จังหวัดนครราชสีมา
- บริเวณอำเภอโกสุมพิสัย กันทรวิชัย เมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม บริเวณอำเภอค้อวัง, คำเขื่อนแก้ว, มหาชนะชัย และเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร
- บริเวณอำเภอจังหาร, เชียงขวัญ, ทุ่งเขาหลวง, ธวัชบุรี, พนมไพร, โพธิ์ชัย, โพนทอง, เมยวดี, เมืองสรวง, เสลภูมิ, สุวรรณภูมิ และอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด
2. ลุ่มน้ำมูล
- บริเวณอำเภอชุมพวง, ลำทะเมนชัย และเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา
- บริเวณอำเภอแคนดง และสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
- บริเวณอำเภอชุมพลบุรี ท่าตูม และรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
- บริเวณอำเภอบึงบูรพ์, ห้วยทับทัน, ราษีไศล, เมืองศรีสะเกษ และกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ
- บริเวณอำเภอเขื่องใน, เมืองอุบลราชธานี, วารินชำราบ และสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
ในส่วนแม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 56,887 ลูกบาศก์เมตร (69%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 49,574 ล้านลูกบาศก์เมตร (69%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ และภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 14 แห่ง ได้แก่ แม่งัด, แม่มอก, ทับเสลา, กระเสียว, อุบลรัตน์, ลำตะคอง, ลำพระเพลิง, มูลบน, ขุนด่าน, คลองสียัด, บางพระ, หนองปลาไหล, นฤบดินทร และบึงบอระเพ็ด
ทั้งนี้ กอนช. ประกาศเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา โดยประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ จังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,100-2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที), แม่น้ำสะแกกรัง สถานี Ct.19 อัตรา 200 ลบ.ม./วินาที, ลำน้ำสาขาอัตรา 100 ลบ.ม./วินาที และการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งรวมจำนวน 200 ลบ.ม./วินาที
ซึ่งในช่วงวันที่ 25-27 กันยายน จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 2,200-2,300 ลบ.ม./วินาที โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.30-0.50 เมตร กอนช. ประกาศเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดอ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, สิงห์บุรี, ปทุมธานี, นนทบุรี, กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า
เพื่อจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที รวมถึงปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่างๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทาน ในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้