อังรี ดูนังต์ ผู้ริเริ่มก่อตั้งกาชาด เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1828 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 1859 ขณะที่เขาเดินทางไปประเทศอิตาลี เขาได้พบเห็นเหตุการณ์อันน่าสลดใจ และความทารุณโหดร้ายอันเนื่องมาจากสงคราม เขาจึงชักชวนชาวบ้านมาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมากในสงครามที่ซอลเฟริโน หลังจากนั้น 3 ปี เขาเขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งมีชื่อว่า ความทรงจำแห่งซอลเฟริโน ซึ่งบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เขาได้พบในสงครามครั้งนั้น โดยเขาเสนอความคิดที่ว่า “จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะตั้งองค์กรอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือทหารบาดเจ็บในยามเกิดสงคราม” จากประเด็นสืบเนื่องความคิดดังกล่าว ก็ได้ปรากฏผลมาจนถึงทุกวันนี้คือ
- การริเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และการก่อตั้งสภากาชาดประจำชาติขึ้นในปี 1863 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยสงครามและภัยพิบัติต่างๆ
- การเผยแพร่และพัฒนากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) จากการประชุมกาชาดระหว่างประเทศในปี 1864 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่มาของอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) และถือได้ว่าเป็นกฎหมายมนุษยธรรมฉบับแรกของโลก
ผลของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนี้ ทำให้องค์กรกาชาดระหว่างประเทศ และกาชาดประจำชาติมีบทบาทในการเข้าช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างดีเยี่ยม ทำให้อังรีได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพครั้งแรกของโลกในปี 1901 เมื่ออายุ 73 ปี และต่อจากนั้นองค์กรกาชาดระหว่างประเทศได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอีก 3 ครั้ง อังรีถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 1910 อายุ 82 ปี
สำหรับประเทศไทยมีถนนสายหนึ่งที่ตั้งชื่ออุทิศให้กับ อังรี ดูนังต์ เดิมถนนสายนี้ชื่อว่า ‘ถนนสนามม้า’ เพราะตัดผ่านสนามม้าปทุมวัน (ราชกรีฑาสโมสร) หลังครบรอบ 100 ปี กาชาดสากล สันนิบาตสภากาชาดเสนอให้ประเทศสมาชิกจัดทำอนุสรณ์รำลึกอังรี ดูนังต์
โดยสภากาชาดไทยพิจารณาเห็นว่า อังรี ดูนังต์ น่าจะเป็นชื่อสาธารณสมบัติที่เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดแก่สาธารณชน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งสันนิบาตสภากาชาด และเห็นว่าถนนสนามม้าเป็นถนนที่อยู่ใกล้บริเวณสภากาชาดไทยมากที่สุด ซึ่งเทศบาลนครกรุงเทพฯ จึงประกาศเปลี่ยนนามถนนสนามม้า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 เป็นถนนอังรีดูนังต์