ย้อนกลับไปเมื่อ 72 ปีที่แล้ว นับเป็นปีมหามงคลยิ่งของพสกนิกรชาวไทย ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
ณ สถานที่ประกอบพระราชพิธีอันมีเกียรติยิ่งนั้น ประกอบไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นผู้ใหญ่ลงมาถึงชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ทั้งสองพระองค์ยังทรงเลือกเชิญเพียงบางองค์มาในพระราชวโรกาสนี้เป็นพิเศษ
ส่วนเชื้อพระวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า จะทรงเชิญแต่ญาติสนิทของหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร กับหม่อมเจ้าแห่งราชตระกูลกิติยากร และเชื้อสายทางสนิทวงศ์ของฝ่ายมารดาเท่านั้น
โดยผู้ประกอบพระราชพิธีตามกฎหมายให้นั้นคือ ฟื้นบุญ ปรัตยุทธ นายอำเภอปทุมวันเป็นนายทะเบียน และมีพยาน 2 คนคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
สำหรับหมายกำหนดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ตามรายละเอียดที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังนี้
วันศุกร์ที่ 28 เมษายน เวลา 09.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ห้องรับแขกตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสมเด็จพระราชบิดา โอกาสนั้น หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร จะได้ทรงพา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรส และโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ลงนามในทะเบียนนั้น ทั้งทรงพระกรุณาโปรดให้ราชสักขีลงนามด้วยแล้ว เสด็จฯ ขึ้นประทับห้องพระราชพิธีบนตำหนัก
ระหว่างเวลา 10.24 น. ถึงเวลา 12.10 น. สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จออกห้องพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงรดน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี เสร็จแล้วเสด็จลงห้องรับแขก โปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาสมเด็จพระอัครมเหสีเป็น สมเด็จพระราชินี
อนึ่งในศุภมงคลการนี้ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานขัตติยราชอิศสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์แด่สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ด้วย
นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มีต่ออาณาประชาราษฎร์ ก็ได้ถ่ายทอดมายังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และทรงงานร่วมกันเนื่องมามิได้ขาด
อ้างอิง:
- http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/…/2493/D/023/1690.PDF
- หนังสือ รักแรกมหาราช โดย ธุลีพระบาท