การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งหลังจากสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดตามวาระ ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 โดยรัฐบาลแปลก พิบูลสงคราม หรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศให้มีเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 โดยเป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขตจังหวัด ซึ่งเป็นการช่วงชิงเก้าอี้ในสภาทั้งสิ้น 160 ที่นั่ง และมีพรรคการเมืองลงสนามเลือกตั้งถึง 23 พรรค เป็นการเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่า สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์
พล.อ. บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารนักประวัติศาสตร์ กล่าวในงานเสวนาเรื่อง ‘การเมืองเบื้องหลัง เลือกตั้ง สกปรก 2500’ จัดโดยนิตยสารศิลปวัฒนธรรม
โดยได้หยิบคำฟ้องของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่เขียนคำฟ้องในนาม ควง อภัยวงศ์ และ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์รวม 9 คน ทั้งก่อนวันเลือกตั้งและวันเลือกตั้ง สรุปได้ดังนี้
ก่อนการเลือกตั้ง
- พล.ต.อ. เผ่า จัดเลี้ยงพวก ‘ผู้กว้างขวาง’ หรือพวกอันธพาล รวมถึงนายตำรวจผู้ใหญ่ให้ช่วยเหลือพรรคเสรีมนังคศิลา ที่มี จอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง
- มีการเพิ่มชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างผิดปกติ และติดรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งล่าช้าหรือไม่ติดเลย
- ตรวจจับบัตรเลือกตั้งโกงได้จำนวนมาก เรียกว่า ‘ไพ่ไฟ’ คือบัตรเลือกตั้งที่พิมพ์จากโรงพิมพ์โดยกากบาทเบอร์ผู้สมัครไว้เรียบร้อยแล้ว
- การใช้ ‘พลร่ม’ คือใช้กลุ่มบุคคลเวียนลงคะแนนให้พรรคเสรีมนังคศิลาหลายรอบ
- คูหาลงเลือกตั้งแต่ละหน่วยอยู่ห่างจากสถานที่รับบัตรมาก
วันเลือกตั้ง
- พวกอันธพาลเข้าก่อกวนหน่วยการเลือกตั้ง ถึงขนาดที่บางหน่วยได้ทำร้ายกรรมการเลือกตั้งประจำหน่วยจนสลบแล้วเข้าไปลงคะแนนแทน บางหน่วยมีผู้เลือกตั้งออกมาพูดว่า “นายควงชนะแหง” ก็ถูกอันธพาลฟันจนศีรษะแยกเป็นสองซีก
- หน่วยเลือกตั้งบางหน่วยเมื่อถึงเวลาเที่ยงแล้วก็ยังไม่เปิดให้ลงคะแนน บางหน่วยเมื่อเลยเวลาห้าโมงเย็นไปแล้วที่ควรแก่การปิดหีบ กลับอนุญาตให้ลงคะแนนได้ต่อไป
- ในขณะนับคะแนน หากพบบัตรเสียหมายเลข 25-33 ซึ่งเป็นหมายเลขผู้สมัครทั้ง 9 คนในเขตพระนครของพรรคเสรีมนังคศิลาก็จะนับเป็นบัตรดี แต่หากพบบัตรเสียที่ลงคะแนนให้หมายเลขอื่นก็นับเป็นบัตรเสียตามเดิม (การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งแบบเหมาเขต กล่าวคือ เขตพระนครมีจำนวน ส.ส. ได้ทั้งหมด 9 คน ดังนั้นประชาชนในเขตพระนครต้องเลือก ส.ส. ทั้ง 9 คน)
- ในหน่วยเลือกตั้งสวนลุมพินีเกิดไฟดับขณะกำลังนับคะแนน พอไฟมาแล้วนับคะแนนต่อ ปรากฏว่าคะแนนเสียงที่นับเสร็จมีมากกว่าจำนวนผู้ที่มาลงทะเบียนเลือกตั้งในหน่วยนั้น
- มี 13 หน่วยเลือกตั้งที่นับคะแนนเสียงล่าช้าไปจนถึงเที่ยงของวันที่ 28 (เลือกตั้งวันที่ 26) เมื่อเอาคะแนนมารวมกันแล้ว พบว่าคะแนนเสียงของหมายเลข 25-33 เพิ่มขึ้นกว่า 200%
เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาแล้วปรากฏว่าประชาชนไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่ารัฐบาลโกงการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งด้วยตนเอง และพบการโกงการเลือกตั้งหลายรูปแบบ เมื่อมีสื่อมวลชนและประชาชนประณามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่สกปรก แต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แถลงต่อหนังสือพิมพ์ว่า อย่าเรียกว่าการเลือกตั้งสกปรกเลย ควรจะเรียกว่าเป็น ‘การเลือกตั้งไม่เรียบร้อย’ เท่านั้น
ท้ายที่สุดการเลือกตั้งสกปรก นำไปสู่การรัฐประหารภายใต้การนำของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้กำลังทหารยึดอำนาจรัฐบาลในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้ระบบเผด็จทหาร และสิ้นสุดได้ด้วยเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516