หากคุณได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Us ของผู้กำกับ จอร์แดน พีล ที่ออกฉายไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมปีที่แล้ว คุณจะพบว่าส่วนหนึ่งของภาพยนตร์มีภาพของโครงการ Hands Across America ที่เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินเรื่องอย่างมาก กิจกรรมดังกล่าวคือกิจกรรมเชิญชวนให้ชาวอเมริกันออกมายืนจับมือกันเป็นทางยาวตลอดแนวความกว้างของทวีป เพื่อรับบริจาคระดมทุนให้กับผู้ยากไร้และคนไร้บ้านในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 1986 หรือเมื่อ 34 ปีก่อน
ตัวตั้งตัวตีของโครงการนี้คือ เคน คราเกน บุคลากรในแวดวงโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องนับว่าแคมเปญนี้เป็นผลพวงจากแคมเปญรณรงค์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้นที่ต่างล้วนประสบความสำเร็จทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Live Aid งานคอนเสิร์ตระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ในเอธิโอเปียในปี 1985 หรือ USA for Africa ที่สรรสร้างเพลง ‘We Are The World’ จนกลายเป็นตำนานในปีเดียวกัน คราเกนจึงคิดแคมเปญนี้ขึ้นมาเพื่อชวนให้คนออกมาจับมือกันคล้ายจะเป็นสัญลักษณ์เชิงสันติภาพและความสามัคคี พร้อมๆ กับระดมเงินบริจาคไปด้วยเช่นแคมเปญก่อนหน้าทำได้
ผู้เข้าร่วมหลายๆ คนต้องบริจาคเงินราว 10-35 เหรียญ เพื่อที่จะได้ตำแหน่งสำหรับการ ‘ยืนจับมือ’ และเสื้อยืดโครงการ ซึ่งจนเสร็จสิ้นโครงการก็พบว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 6.5 ล้านคน จับมือกันเริ่มต้นไปตั้งแต่บริเวณ Battery Park ทางตอนใต้ของเกาะแมนฮัตตัน กรุงนิวยอร์ก ลำดับแรกของโซ่มนุษย์ขนาดยาวนี้คือ เอมี เชอร์วูด เด็กหญิงวัย 6 ขวบ ผู้เติบโตมาในครอบครัวที่รายล้อมไปด้วยยาเสพติดและการค้าบริการทางเพศ ก่อนจะไปสิ้นสุดที่แคลิฟอร์เนียอย่างกระท่อนกระแท่น
ผู้คนทั้งหมดจับมือกันเป็นเวลาราว 15 นาที และแน่นอนว่ามันไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องด้วยความขาดตอนของพื้นที่ที่ต้องผ่านแม่น้ำ ภูเขา หรือทะเลทรายก็ตาม จึงมีบางช่วงบางตอนที่พวกเขาไม่สามารถจับมือต่อกันได้ รวมไปถึงยังมีการประท้วงต่อต้านเกิดขึ้นจากประชาชนในหลายๆ รัฐที่เส้นทางการจับมือไม่ผ่านพวกเขา
ตลอดแคมเปญ Hands Across America สามารถระดมทุนไปได้กว่า 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 50-100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งเมื่อหักค่าใช้จ่ายโน่นนี่แล้ว แคมเปญนี้สามารถนำเงินที่ระดมทุนไปใช้จริงเพียง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น