ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 1 ปีที่แล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ถ้ำหลวง เมื่อวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน สำนักงานพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 รับแจ้งว่ามีเด็กนักฟุตบอลและโค้ช 13 ชีวิตเดินทางเข้าไปเที่ยวในถ้ำ ก่อนจะหายตัวไปตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 23 มิถุนายน กลายเป็นปฏิบัติการตามหาที่กินเวลารวมทั้งสิ้น 221 ชั่วโมง 41 นาที หรือเท่ากับ 17 วันเต็ม และแลกมาด้วย 1 ชีวิตของอดีตหน่วยซีล
จากข่าวเด็กติดถ้ำธรรมดา กลายเป็นปฏิบัติการกู้ภัยที่ซับซ้อนและยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งในโลก เมื่อทีมกู้ภัยต้องทำงานแข่งกับเวลาท่ามกลางสภาพภายในถ้ำที่มีความซับซ้อน และกระแสน้ำที่มาพร้อมกับพายุฝนที่ทวีความยากของภารกิจครั้งนี้ขึ้นไปอีก จนต้องทำการระดมนักดำน้ำที่เก่งที่สุดจากทั่วทุกมุมโลก คิดเป็น 1 ใน 4 ของนักดำน้ำทั้งหมด ร่วมกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล พร้อมทีมงานหมุนเวียนรวมกว่าหมื่นชีวิตที่พยายามต่อสู้กับระดับน้ำภายในถ้ำ และช่วยชีวิตสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายทั้ง 13 คนออกมาให้ได้
ตลอดภารกิจ 17 วัน แบ่งเป็นการค้นหาซึ่งต้องแข่งกับนาทีชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำ 10 วัน และการกู้ภัยซึ่งถูกบีบด้วยอากาศที่เบาบางข้างใน และกระแสน้ำที่มาพร้อมพายุฝนอีก 7 วัน ระหว่างนั้นเราได้สูญเสีย จ่าเอก สมาน กุนัน หรือจ่าแซม เจ้าหน้าที่หน่วยซีลนอกราชการ ผู้อาสาช่วยเหลือในภารกิจที่ถ้ำหลวง ซึ่งทุกคนพร้อมใจยกย่องเขาเป็น ‘วีรบุรุษถ้ำหลวง’
ท้ายที่สุดเหตุการณ์ก็จบด้วยรอยยิ้ม เมื่อทีมกู้ภัยสามารถลำเลียงหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตออกมาได้สำเร็จ โดยใช้เวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-10 กรกฎาคม โดยสองชุดแรกออกมาครั้งละ 4 คน ส่วนชุดสุดท้ายออกมา 5 คน ปิดฉากภารกิจระดับโลก 17 วันที่คนทั้งโลกเอาใจช่วย
ผ่านไป 1 ปี วันนี้ถ้ำหลวงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก