เติ้งเสี่ยวผิง นักการเมืองและอดีตผู้นำนักปฏิรูปที่ยิ่งใหญ่ของจีน เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 1904 ที่เมืองกว่างอัน มณฑลเสฉวน เดิมมีชื่อว่า เติ้งเซียนเซิ่ง เป็นบุตรชายคนโตของ เติ้งเหวินหมิง ชนชั้นกลางที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยกฎหมายและรัฐศาสตร์ในเมืองเฉิงตู โดยแม่ของเขาเสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุยังน้อย ขณะที่เติ้งมีน้องชาย 3 คน พี่สาว 1 คน และน้องสาว 2 คน
ในวัย 5 ขวบ เติ้งถูกส่งไปโรงเรียนประถมเอกชนแบบจีนดั้งเดิม และย้ายไปโรงเรียนประถมที่ทันสมัยขึ้นเมื่ออายุได้ 7 ขวบ และศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนในมณฑลเสฉวน
ในวัย 16 ปี เติ้งสอบได้ทุนไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ที่ซึ่งเขาได้กลายเป็นสาวกของลัทธิมาร์กซ์-เลนิน และเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ในปี 1924 โดยเติ้งเรียนที่ฝรั่งเศสและทำงานไปด้วยจนถึงอายุ 21 ปี ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กรุงมอสโก เมืองหลวงของอดีตสหภาพโซเวียต และได้เดินทางกลับไปยังจีนในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1927 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคก๊กมินตั๋งตึงเครียด โดยเติ้งได้รับมอบหมายจากพรรคคอมมิวนิสต์ให้ทำงานในสถาบันการทหารและการเมืองซุนยัดเซ็น และได้กลายเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน
เมื่อความร่วมมือระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคก๊กมินตั๋งสิ้นสุดลง ทำให้เขาต้องเปลี่ยนชื่อเป็น เติ้งเสี่ยวผิง เพื่อปกปิดชื่อจริง และได้กลายเป็นเลขาธิการใหญ่ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1934
หลังจากที่ เหมาเจ๋อตุง ได้ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลกลางในปี 1935 เติ้งได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าหน่วยเผยแพร่อุดมการณ์ โดยเขายังได้มีบทบาททั้งในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 (1937-1945) และสงครามกลางเมืองจีน (1945-1949)
จากนั้นหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1952 เติ้งได้เข้าดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลกลาง ทั้งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้ประธานเหมาเจ๋อตุง และรองนายกรัฐมนตรีภายใต้นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล และกลายเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีน
อย่างไรก็ตาม จุดยืนทางการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจที่เอนเอียงไปทางฝ่ายขวาทำให้เขาไม่เข้าข้างเหมาในที่สุด และเขาถูกปลดจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1966 จนต้องไปทำงานในโรงงานผลิตรถแทรกเตอร์ ก่อนจะได้กลับมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี 1973 และรับหน้าที่ฟื้นฟูประเทศจากผลพวงของความผิดพลาดในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ต่อมากลับถูกกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายที่เรียกว่า แก๊ง 4 คน นำโดย เจียงฉิง ภรรยาของเหมา ที่มองว่าเติ้งเป็นอุปสรรคของการช่วงชิงอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์ ใส่ความประกอบกับเหมาก็สงสัยว่า เติ้งพยายามจะทำลายชื่อเสียงในแง่บวกของแนวคิดการปฏิวัติวัฒนธรรม ทำให้เขาต้องออกจากทุกตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายน 1976
หลังสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรม และการถึงแก่อสัญกรรมของเหมาในเดือนกันยายน 1976 เติ้งได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 1977 และได้รับการสนับสนุนจากภายในพรรคคอมมิวนิสต์จนก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดแทนที่ ฮั่วกั๋วเฟิง นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ซึ่งในช่วงที่เขาเป็นผู้นำสูงสุด ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเขาคือ ประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีนตั้งแต่ปี 1978-1983 และประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ปี 1983-1990
ภายใต้การนำของคณะกรรมการบริหารพรรครุ่นที่ 2 ซึ่งมีเติ้งเป็นแกนนำ ทำให้มีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการพัฒนาระบอบสังคมนิยมที่มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศจีน ซึ่งก่อให้เกิดนโยบายที่นำมาซึ่งการพัฒนาและเปิดกว้างทางเศรษฐกิจมากขึ้นตลอดช่วงทศวรรษ 1980
ภาพ: Forrest Anderson / Getty Images