การเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม 2535 เกิดขึ้นหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมี พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้า รสช. จากนั้นจึงมีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ขึ้น และมีการจัดการเลือกตั้งในเวลาต่อมา
ภายหลังการเลือกตั้ง 5 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลด้วยคะแนนเสียง 195 เสียง ต่อฝ่ายค้าน 165 เสียง แต่กลับไม่มี ส.ส. คนใดได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะพรรครัฐบาลสนับสนุนให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร
ส่วน ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นแกนนำด้วยจำนวน ส.ส. มากที่สุด 79 เสียง ก็ไม่สามารถรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะถูกทางการสหรัฐฯ สงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด และถูกปฏิเสธการออกวีซ่าเข้าประเทศ
หลัง พล.อ. สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน ก็ถูกประชาชนคัดค้านอย่างหนัก เพราะไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้ง และยังเคยประกาศไว้ว่าจะไม่สืบทอดอำนาจของ รสช. จนได้รับฉายา ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ จากการคัดค้านนี้นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่มีการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ และมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก
หลังเหตุการณ์สงบ จึงมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2535 ก่อนจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนร้องขอ โดยระบุให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
อ้างอิง: