×

22 กุมภาพันธ์ 2014 – สภายูเครนถอดถอน วิกเตอร์ ยานูโควิช ปฐมบทวิกฤต ‘ยูเครน-รัสเซีย’

โดย THE STANDARD TEAM
22.02.2022
  • LOADING...
Viktor Yanukovych

วิกเตอร์ ยานูโควิช ขึ้นเป็นประธานาธิบดียูเครนเมื่อปี 2010 เขามีนโยบายสนับสนุนรัสเซีย โดยเมื่อปี 2013 ยานูโควิชตัดสินใจระงับข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU) เพื่อเอาใจรัสเซีย และพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย แต่การเลือกถอยห่างจาก EU และฟื้นความสัมพันธ์กับรัสเซีย กลับกลายเป็นชนวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ช่วงปลายปี 2013 โดยสถานการณ์การประท้วงบานปลายและทวีความรุนแรง จนมีผู้ถูกสังหารหลายสิบคน 

 

กระทั่งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2014 รัฐสภายูเครนลงมติถอดถอนยานูโควิชออกจากตำแหน่ง ก่อนที่รัฐบาลรักษาการจะออกหมายจับ ทำให้เขาต้องหนีไปยังรัสเซีย โดยยานูโควิชประณามการลงมติถอดถอนเขาว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย พร้อมขอให้รัสเซียช่วยเหลือ

 

จากนั้นเพียงไม่กี่วัน ชนวนขัดแย้งที่นำมาสู่การแตกหักถึงขั้นทำสงครามครั้งแรกระหว่างรัสเซียและยูเครนก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดการเดินขบวนของกลุ่มสนับสนุนรัสเซียในภูมิภาคไครเมียที่เรียกร้องให้รัฐสภาท้องถิ่นต่อต้านรัฐบาลกลางยูเครนชุดใหม่ และต้องการให้เปิดทำประชามติสถานะของไครเมีย เพื่อแยกดินแดนและผนวกรวมกับรัสเซีย

 

ต้องอธิบายก่อนว่า ไครเมีย หรือในชื่อเดิมคือ ‘สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตปกครองตนเองไครเมีย’ เป็นดินแดนคาบสมุทรติดทะเลดำที่ตั้งอยู่ทางใต้ของยูเครน ติดกับพื้นที่ทางตะวันตกของรัสเซีย เป็นพื้นที่ปกครองตนเองที่มีประชากรราว 2.4 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองรัสเซียที่พูดภาษารัสเซีย และต้องการกลับไปอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

 

ความไม่สงบในไครเมียและกรณีการถอดถอนยานูโควิช ทำให้ฝ่ายรัสเซียนำโดยประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจเริ่มต้นแผนการ เพื่อผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ช่วงต้นปี 2014 และเริ่มต้นเคลื่อนกำลังทหารและกองกำลังพิเศษเข้าสู่ไครเมีย

 

สงครามครั้งนี้รัสเซียเป็นฝ่ายชนะ หลังรัสเซียส่งกองทัพเข้าไปในไครเมีย ทำให้ฐานทัพยูเครนและจุดยุทธศาสตร์ทั้งหมดในไครเมียถูกปิดล้อม นำมาสู่การตั้งรัฐบาลท้องถิ่นชุดใหม่ที่มีผู้นำเป็นฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย ก่อนจะมีการจัดทำประชามติ ผนวกรวมไครเมียเข้ากับรัสเซียอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มีนาคม 2014

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X