‘สวัสดี’ คือคำทักทายแบบไทยๆ ที่ทุกคนใช้กันในชีวิตประจำวันทั่วไป ส่วนถ้าถามถึงจุดเริ่มต้น คงต้องย้อนกลับไปในวันที่ 22 มกราคม 2486 หรือวันนี้เมื่อ 76 ปีที่แล้ว
คำว่า ‘สวัสดี’ มีที่มาจากรากศัพท์ ‘โสตฺถิ’ ในภาษาบาลี และ ‘สวัสติ’ ในภาษาสันสกฤต โดยเริ่มใช้เป็นครั้งแรก ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ผู้ริเริ่มใช้คำดังกล่าวเป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น ก่อนที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นจะเห็นชอบให้ใช้คำว่า ‘สวัสดี’ เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการ โดยมอบหมายให้กรมการโฆษณา (กรมประชาสัมพันธ์) ออกข่าวประกาศอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2486
นอกจากคำว่า ‘สวัสดี’ แล้ว ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังกำหนดให้คนไทยทักทายกันตอนเช้าว่า ‘อรุณสวัสดิ์’ โดยแปลมาจากคำว่า ‘Good Morning’ และให้ทักทายกันในตอนบ่ายว่า ‘ทิวาสวัสดิ์’ มีที่มาจากคำว่า ‘Good Afternoon’ ส่วนตอนเย็นให้ทักทายว่า ‘สายัณห์สวัสดิ์’ มาจากคำว่า ‘Good Evening’ และปิดท้ายวันด้วยคำว่า ‘ราตรีสวัสดิ์’ ที่มาจากคำว่า ‘Good Night’