ศาลหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2325 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสารูปบัวตูม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 ณ ชัยภูมิใจกลางพระนครใหม่ที่พระราชทานนามว่า ‘กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา’ หรือเรียกต่อกันมาว่า ‘กรุงเทพมหานคร’
เทพย์ สาริกบุตร นักโหราศาสตร์ชั้นครู เคยให้ข้อมูลว่า ในการฝังเสาหลักเมืองปรากฏว่า มีงูตัวเล็กๆ 4 ตัวลงไปอยู่ในหลุม ขณะเลื่อนเสาลงหลุม ทำให้งูทั้งสี่ถูกฝังไปพร้อมกัน เหตุดังกล่าวทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเรียกประชุมเหล่าราชบัณฑิตโหราจารย์ พระราชาคณะ และผู้รู้ทั้งปวง ซึ่งที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์นี้เป็นอวมงคลนิมิต
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงได้ทรงประกอบพระราชพิธีสะเดาะห์เคราะห์ แต่อีก 7 ปี ต่อมา เมื่อเกิดฟ้าผ่าไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสว่า สิ้นพระเคราะห์เมืองแล้ว และจะถาวรลำดับกษัตริย์ถึง 150 ปี คือถึงปี 2475
เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่ เป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายใน ประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และผูกดวงชาตาพระนครขึ้นใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลายที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ประสบความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรยิ่งขึ้น
อ้างอิง:
- สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง
- นิตยสารศิลปวัตนธรรม
- https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_8473