วันภาษาแม่สากล หรือวันภาษาแม่นานาชาติ ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยเกิดจากเจตนารมณ์ขององค์กรการศึกษาและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ที่ต้องการจะสนับสนุนการอนุรักษ์และปกป้องภาษาทุกภาษาของคนบนโลก
โดยสาเหตุที่ต้องเป็นวันดังกล่าว เป็นเพราะเกิดเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการใช้ภาษาบังคลา หรือภาษาเบงกาลี ซึ่งเป็นภาษาแม่ของนักศึกษาชาวบังกลาเทศในประเทศปากีสถาน ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสีย เพื่อให้มนุษยชาติตระหนักถึงพลังและความสำคัญของภาษาแม่ รวมถึงสิทธิทางภาษาของทุกกลุ่มชาติพันธุ์บนโลกใบนี้ ยูเนสโกจึงได้กำหนดให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันภาษาแม่สากล เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ประธานที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต ระบุว่า หากไม่มีแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูภาษาอย่างเป็นรูปธรรมภายในศตวรรษที่ 21 ภาษาบนโลกนี้จะตายไปกว่า 90% ส่วนที่เหลือประมาณ 10% ที่ไม่ตาย เพราะเป็นภาษาประจำชาติ ภาษาที่มีการใช้ในโรงเรียน ภาษาในการปกครอง ภาษาในสื่อมวลชน ภาษาแม่ หรือภาษาของชาติพันธุ์ ถือเป็นทรัพยากรของประเทศ