เกิดการรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 หลังการปฏิวัติ 2475 เมื่อวันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2476 นำโดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ทำการยึดอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
การรัฐประหารครั้งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเกิดความตึงเครียดทางการเมืองจากความขัดแย้งในสภา หลัง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เสนอ ‘เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ’ ที่ให้รัฐออกพันธบัตรซื้อที่ดินทำกินทั้งหมด ทำให้ชาวนาชาวไร่มีสภาพเป็นลูกจ้างของรัฐ ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักว่าเป็นการวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์
ต่อมาในระหว่างการประชุมสภาวันที่ 31 มีนาคม 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและพระยาทรงสุรเดชได้อ้างเหตุว่า ในการประชุมก่อนหน้านั้น 1 วัน มีสมาชิกบางรายพกอาวุธเข้าที่ประชุม จึงนำกำลังทหารประมาณหนึ่งกองร้อยเข้ามาควบคุมการประชุมของสภา ทำให้มีการโจมตีการใช้อำนาจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
วันต่อมารัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เข้าลักษณะเป็นการ ‘รัฐประหาร’ ทำให้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติมาขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจของกษัตริย์ในรูปของพระราชกฤษฎีกา
วันที่ 2 เมษายน รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ โดยไม่ผ่านการพิจารณาของสภา บีบให้หลวงประดิษฐ์ฯ ต้องเดินทางไปต่างประเทศในวันที่ 12 เมษายน
ในช่วงนี้มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาถูกสั่งปิดไปหลายสำนัก เช่น กรุงเทพวารศัพท์ ด้วยข้อหาเป็นเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน หลักเมือง ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์ ตามมาด้วย ประชาชาติ และ ไทยใหม่
ถึงวันที่ 18 มิถุนายน ‘สี่ทหารเสือ’ ของคณะราษฎร คือพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองและการทหาร โดยอ้างปัญหาสุขภาพ ก่อนที่ในวันที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลพลพยุหเสนาจะนำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ โดยให้เหตุผลว่า
“ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนและงดใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลายบท คณะทหารบก ทหารเรือ กองทัพอากาศ และพลเรือน จึงเห็นเหตุจำเป็นเข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ”
อ้างอิง: