หลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยอมรับเป็นพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ แต่มีการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎร นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475
พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย และอาจกล่าวได้ว่าคือผู้ทำรัฐประหารเป็นคนแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เรียกกันว่า ‘รัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา’
ต้นเหตุอันนำไปสู่การปิดสภาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา มาจากความขัดแย้งภายในสภา หลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เสนอ ‘เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ’ ที่ให้รัฐออกพันธบัตรซื้อที่ดินทำกินทั้งหมด ทำให้ชาวนาชาวไร่มีสภาพเป็นลูกจ้างของรัฐ ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักว่าเป็นการวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบเดียวกับคอมมิวนิสต์
1 เมษายน 2476 ซึ่งขณะนั้นถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เข้าลักษณะเป็นการ ‘รัฐประหาร’ ประการหนึ่ง ทำให้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติมาขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจของพระมหากษัตริย์ในรูปของพระราชกฤษฎีกา จนทำให้สื่อมวลชนในยุคนั้นล้อเลียนว่าเป็นระบอบ ‘มโนเครซี่’
เหตุการณ์ดังกล่าวจบลงด้วย พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี โดยอ้างปัญหาสุขภาพ ก่อนที่ในวันที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลพลพยุหเสนาจะนำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
อ้างอิง: