การสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่ม ‘เสื้อแดง’ ที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 7-19 พฤษภาคม 2553 โดยรัฐบาลได้ส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามและรถหุ้มเกราะ เข้าปิดล้อมพื้นที่การชุมนุม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่
การสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 59 ราย เป็นชาวต่างชาติ 2 ราย เจ้าหน้าที่กู้ชีพ 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 480 ราย รวมจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บตลอดช่วง 69 วันของการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จำนวน 92 ราย และบาดเจ็บกว่า 1,500 ราย ตามข้อมูลในรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์
ขณะที่มีการปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมเกิดขึ้นในหลายจุด และเกิดเหตุการณ์ยิงและระเบิด รวมถึงเหตุลอบยิงสังหาร พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง)
เหตุการณ์สลายการชุมนุมวันสุดท้าย 19 พฤษภาคม 2553 เกิดขึ้นหลังจากที่หลายฝ่ายมีความพยายามในการเจรจาหาทางออก โดยวุฒิสมาชิกบางส่วนเป็นสื่อกลาง และแกนนำ นปช. ยินยอมที่จะเจรจากับรัฐบาลโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ก็ยังเกิดการสลายการชุมนุม ซึ่งกองทัพใช้ยุทธการปิดล้อมพื้นที่ชุมนุม นำรถหุ้มเกราะเข้าทำลายสิ่งกีดขวาง ก่อนเริ่มการโจมตีอย่างเต็มรูปแบบ และเข้ายึดพื้นที่ทั้งแยกราชประสงค์และโดยรอบสวนลุมพินี
แรงกดดันที่เกิดขึ้นจากการสลายชุมนุมที่รุนแรง ทำให้เวลา 13.20 น. แกนนำ นปช. ลงมติตัดสินใจประกาศยุติการชุมนุม พร้อมทั้งยอมเข้ามอบตัวกับตำรวจ ส่งผลให้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ส่งเสียงโห่ร้องไม่เห็นด้วย ขณะที่เหตุการณ์ยังดำเนินต่อไป และเกิดกรณีวางเพลิงเผาอาคารและศูนย์การค้าหลายจุด ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะแยกย้ายกันกลับ
ภาพ: Getty Images