วันนี้ของทุกปีถือเป็นวันสำคัญของแวดวงศิลปะไทย เพราะตรงกับวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทย และเป็นผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีชื่อเดิมว่า คอร์ราโด เฟโรชี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 เป็นชาวอิตาลีที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากการชนะการประกวดออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จะทรงคัดเลือกให้มาปฏิบัติงานในเมืองไทย โดยรับตำแหน่งช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภาใน พ.ศ. 2469
ในแรกเริ่มศาสตราจารย์ศิลป์ได้เริ่มวางหลักสูตรอบรมแก่ผู้สนใจวิชาประติมากรรมโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ และภายหลังทางราชการขอให้วางหลักสูตรการศึกษารูปแบบเดียวกันกับสถาบันศิลปะยุโรป จึงเป็นที่มาของหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม และ ‘โรงเรียนประณีตศิลปกรรม’ สังกัดกรมศิลปากร ก่อนจะเปลี่ยนเป็นโรงเรียนศิลปากร และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 โดยมีคณะจิตรกรรมและประติมากรรมเป็นคณะวิชาแรก ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยควบคู่ไปกับตำแหน่งอาจารย์สอนด้วย
ศาสตราจารย์ศิลป์ทุ่มเทเวลา และอุทิศชีวิตให้กับวงการศิลปะไทยเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2505 ได้ล้มป่วยจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก่อนที่จะถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวภายหลังการเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมสิริอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน