×

15 มิถุนายน 2505 – ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่บนดินแดนอำนาจใต้อธิปไตยกัมพูชา

โดย THE STANDARD TEAM
15.06.2023
  • LOADING...
ปราสาทพระวิหาร

ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษและชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร กลายเป็นความขัดแย้งและคดีความครั้งใหญ่ระหว่างไทยและกัมพูชาตั้งแต่ปี 2501 ภายหลังกัมพูชาได้รับเอกราช และเจ้านโรดม สีหนุ กษัตริย์กัมพูชา ทรงสละราชสมบัติและเข้าสู่การเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนจะประกาศเรียกร้องให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร ซึ่งฝ่ายไทยไม่ยอมรับ จึงมีการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2501 และในปีต่อมา วันที่ 6 ตุลาคม 2502 เจ้านโรดม สีหนุ ได้ฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือศาลโลก ให้ไทยคืนปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา

 

ทั้งนี้ ไทยและกัมพูชาถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่ตั้งของตัวปราสาท

 

ขณะที่รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้แต่งตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และคณะ รวม 13 คน เป็นทนายฝ่ายไทย และฝ่ายกัมพูชามี ดีน แอชีสัน เนติบัณฑิตแห่งศาลสูงสุด และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะ กับพวก รวม 9 คน 

 

กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยมติ 9 ต่อ 3 เสียง และมติ 7 ต่อ 5 เสียง ตัดสินว่าไทยต้องคืนวัตถุสิ่งประติมากรรม แผ่นศิลาส่วนปรักหักพังของอนุสาวรีย์รูปหินทราย เครื่องปั้นดินเผาโบราณ และปราสาทหรือบริเวณเขาพระวิหาร ให้แก่กัมพูชา

 

หลังจากนั้น 20 วัน รัฐบาลไทยโดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง อู ถั่น เลขาธิการสหประชาชาติขณะนั้น เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก และสงวนสิทธิ์ที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคต 

 

คดีปราสาทพระวิหารปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 หลังกัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลโลก เพื่อขอให้ตีความคำพิพากษาในปี 2505 ซึ่งต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ศาลโลกมีคำพิพากษาให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่รอบตัวปราสาทพระวิหารและขอบเขตใกล้เคียงปราสาท 

 

คําตัดสินของศาลโลกเป็นไปตามแนวทางการสู้คดีของฝ่ายไทย ขณะที่ศาลไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องของกัมพูชาเหนือพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร และไม่ได้ตัดสินว่าแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนของกัมพูชา ผูกพันไทยภายใต้คดีเดิมในฐานะเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา และแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันพัฒนาปราสาทพระวิหารในฐานะมรดกโลก

 

ภาพ: Francis Demange / Gamma-Rapho via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X