วันสงกรานต์วันนี้จะเรียกว่าเถลิงศก หรือวันขึ้นศก หมายถึงวันที่เริ่มจุดเปลี่ยนศักราชใหม่ การที่กำหนดให้อยู่ในวันนี้นั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนขึ้นอยู่ราศีเมษแน่นอนแล้วอย่างน้อย 1 องศา
วันสงกรานต์ยังมีตำนานเรื่องหนึ่งคือ นางสงกรานต์ ซึ่งมีบันทึกไว้บนจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นเรื่องเล่าของธรรมบาลกุมารที่ถูกท้าวกบิลพรหมประลองเชาวน์ปัญญา โดยมีข้อแลกเปลี่ยนเป็นศีรษะ หากธรรมบาลกุมารไม่สามารถตอบคำถามได้ แต่หากตอบได้ ท้าวกบิลพรหมก็จะตัดเศียรตัวเองถวายเป็นเครื่องบูชา
ท้าวกบิลพรหมถามว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน
ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วันเพื่อค้นหาคำตอบ จนล่วงเลยสู่วันที่ 6 แล้ว ธรรมบาลกุมารก็เปลี่ยนที่ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรีสองตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ และบังเอิญที่ท้าวธรรมบาลกุมารรู้ภาษานก จึงแอบฟังสองนกผัวเมียที่กำลังคุยกันถึงตนว่า วันรุ่งขึ้นนกอินทรีจะได้ศพธรรมบาลกุมารกินเป็นอาหาร เพราะตอบคำถามท้าวกบิลพรหมไม่ได้
เมียนกจึงถามผัวของตนว่า คำตอบของคำถามคืออะไร ผัวจึงเฉลยว่าตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า ตอนเที่ยงศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน
เป็นอันว่าท้าวกบิลพรหมต้องตัดเศียรตนเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าตั้งเศียรไว้ที่แผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง จึงให้ธิดาท้าวกบิลพรหมทั้งเจ็ดและเป็นบาทบริจาริกาพระอินทร์นำพานมารองรับ แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธชุลี ในเขาไกรลาส โดยทุกปีธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้งเจ็ด จะผลัดเปลี่ยนอัญเชิญพระเศียรแห่รอบเขาพระสุเมรุเป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม
ธิดาทั้งเจ็ดนี้คือนางสงกรานต์ที่จะปรากฏในวันมหาสงกรานต์ ส่วนท้าวกบิลพรหม โดยนัยหมายถึง พระอาทิตย์ ตามคำว่า กบิล ที่แปลว่าสีแดง