เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2516 เมื่อนักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้ร่วมกับประชาชนจำนวนนับแสนคนชุมนุมโดยสันติ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้รัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร, จอมพล ประภาส จารุเสถียร และ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร ปล่อยนักโทษการเมือง 13 คน ที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่ถูกแจ้งข้อหากบฏและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
ต่อมาเมื่อมีการเดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาถึงถนนราชดำเนิน รัฐบาลได้ใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
ต่อมา จอมพล ถนอม, จอมพล ประภาส และ พ.อ. ณรงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ และโปรดเกล้าฯ ให้ สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของไทย
เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก จากการต่อสู้กับเผด็จการเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ จึงมีการเรียกบุคคลผู้สูญเสียว่า ‘วีรชน’ และเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่าวันมหาวิปโยค