“ธงชาติและเพลงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย เราจงร่วมใจยืนตรงเคารพธงชาติ ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราช และความเสียสละของบรรพบุรุษไทย”
เสียงประกาศให้ยืนตรงเคารพธงชาติทุกเช้า-เย็น กลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่คนไทยคุ้นหูกันเป็นอย่างดี โดยธรรมเนียมนี้เริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2485 หลังรายการวิทยุกระจายเสียง ‘นายมั่น-นายคง’ ได้เชิญชวนให้ประชาชนยืนตรงเคารพธงชาติ จากการออกอากาศในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2485 โดยระบุว่า
“เวลา 18.00 น. นับตั้งแต่เช้าวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ผู้ที่มีเครื่องรับวิทยุ ก็ขอได้โปรดเปิดให้ดังๆ ด้วย เพื่อเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง และคนที่สัญจรไปมาจะได้ยืนทั่วๆ กัน
“เมื่อเวลาประกาศให้เคารพธงชาติให้ทำทุกคน เป็นการเคารพชาติที่มีคุณแก่เรา และบอกให้คนในบ้านทุกคนทำการเคารพด้วยบอกว่าธงชาติยังอยู่ชักขึ้นแล้ว เอกราชของไทยยังบุญมั่นขวัญยืนดี เราต้องพร้อมใจกันทำการเคารพทั่วทั้งชาติ”
โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาเคยออกกฎกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ‘ระเบียบการชักธงชาติ’ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่กำหนดระเบียบการชักธงและประดับธงชาติ แต่การยืนตรงเคารพธงชาติยังไม่แพร่หลาย จนกระทั่งมีการออกอากาศในรายการวิทยุดังกล่าว
อ้างอิง: