สตีเฟน ฮอว์คิง คือนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ผู้เป็นทั้งแรงบันดาลใจให้กับนักฟิสิกส์ทั่วโลกในแง่ของการวิจัยและแง่มุมของการต่อสู้ชีวิตจากโรค ALS หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
หนึ่งในผลงานที่ทำให้โลกฟิสิกส์ต้องสั่นสะเทือนของฮอว์คิงในปี 1947 คือการค้นพบว่าหลุมดำมีอุณหภูมิ โดยหลุมดำยิ่งมีมวลมากก็ยิ่งมีอุณหภูมิต่ำ โดยนักฟิสิกส์รู้มานานแล้วว่าวัตถุใดๆ ที่มีอุณหภูมิมากกว่าศูนย์สัมบูรณ์ (-273.15°C) จะมีการแผ่รังสีออกมาเสมอ
ในตอนนั้นฮอว์คิงเสนอว่า หลุมดำก็ควรจะมีการแผ่รังสีออกมาเนื่องจากอุณหภูมิของมันเช่นกัน ซึ่งฮอว์คิงสามารถอธิบายกลไกการแผ่รังสีของหลุมดำได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งทุกวันนี้นักฟิสิกส์เรียกรังสีที่หลุมดำแผ่ออกมาว่ารังสีของฮอว์คิง (Hawking Radiation) จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันและตรวจจับรังสีของฮอว์คิงจากหลุมดำได้ แต่นักฟิสิกส์หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้ามีการตรวจจับรังสีจากหลุมดำได้ ฮอว์คิงก็น่าจะได้รับรางวัลโนเบลอย่างไม่ต้องสงสัย
ฮอว์คิงในวัย 21 ปีได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis: ALS) ซึ่งทำให้เขาต้องเริ่มใช้ชีวิตอย่างยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายต้องนั่งรถเข็นและใช้อุปกรณ์สังเคราะห์เสียงในการสื่อสาร
สตีเฟน ฮอว์คิง เสียชีวิตในวันที่ 14 มีนาคม 2018 ที่บ้านของเขาในเมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และแม้ว่า สตีเฟน ฮอว์คิง จะจากโลกใบนี้ไปแล้ว แต่งานวิจัยของเขายังคงส่งแรงกระเพื่อมในโลกฟิสิกส์ต่อไป