การรักษาโดยวิธีผ่าตัด เท่าที่มีหลักฐานบันทึก พบการผ่าตัดในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง เวลานั้นเป็นช่วงที่มิชชันนารีเข้ามาประเทศไทย หนึ่งในมิชชันนารีคือ นายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือที่คนไทยเรียกว่า หมอบรัดเลย์
การผ่าตัดครั้งที่สร้างชื่อเสียงให้กับหมอบรัดเลย์และการแพทย์สมัยใหม่ของมิชชันนารีคือ การตัดแขนพระภิกษุรูปหนึ่ง เหตุเกิดในงานฉลองวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2379) เมื่อปืนใหญ่ที่นำไปทำเป็นกระบอกสำหรับจุดไฟเพนียงหรือพลุ เกิดระเบิดขึ้นในขณะที่จุดชนวน ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายหลายคน หมอบรัดเลย์ซึ่งมีบ้านอยู่แถวนั้น ได้มารักษาคนเจ็บ… มีพระรูปหนึ่งได้รับบาดเจ็บจนกระดูกแขนแตกละเอียด จำเป็นต้องตัดแขน เพราะถ้าไม่ตัดออกอาจติดเชื้อ ส่วนเนื้อที่ตาย ทางการแพทย์ถือว่าเป็นพิษ วิธีการตัดแขนตัดขาไม่เป็นที่ยอมรับของคนไทยสมัยนั้น เพราะไม่เชื่อว่าจะช่วยให้รอดชีวิต แต่พระสงฆ์รูปนั้นยอม แม้ว่าจะยังไม่มียาสลบและยาชาใช้ เมื่อตัดแขน เย็บผูกหลอดเลือด แล้วก็เย็บแผล โดยดึงหนังลงมาหุ้มปิดปากแผล การผ่าตัดประสบผลสำเร็จ บาดแผลหายสนิทในเวลาไม่นาน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้คนไทยหันมาสนใจการแพทย์สมัยใหม่ของมิชชันนารี ค่อยๆ ยอมรับวิธีการรักษาแบบตะวันตก โดยเฉพาะกล้ารับการผ่าตัดมากขึ้น
อ้างอิง: พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน