การติดต่อระหว่างฝรั่งเศสและกัมพูชาครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อคณะทูตของมงติญี (M. Montigny) กงสุลฝรั่งเศสประจำเซี่ยงไฮ้ เข้ามาทำสนธิสัญญากับไทยแบบเดียวกับสนธิสัญญาเบาว์ริงของอังกฤษในปี 1856 โดยเมื่อเดินทางออกจากไทย มงติญีได้เดินทางต่อไปยังกัมพูชา แต่พระองค์ด้วง กษัตริย์กัมพูชาขณะนั้นทรงให้คำตอบว่ากัมพูชาเป็นเมืองน้อย ไม่อาจทำสัญญาได้ตามลำพัง ต้องปรึกษาสยามก่อน คณะทูตของมงติญีจึงเดินทางต่อไปยังราชสำนักเว้ของเวียดนาม
หลังคณะทูตของมงติญีกลับไปไม่นาน พระองค์ด้วงได้ส่งหนังสือไปยังกงสุลฝรั่งเศสของสิงคโปร์ เพื่อนำไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ขอให้ฝรั่งเศสช่วยคุ้มครองกัมพูชาให้พ้นจากอำนาจของสยามและเวียดนาม
ต่อมาในปี 1863 หลังจากที่ฝรั่งเศสดำเนินนโยบายแข็งกร้าวในการยึดครองดินแดนเวียดนาม พลเรือเอก เดอ ลา กรองดิแยร์ (Admiral de la Grandière) ซึ่งรับตำแหน่งข้าหลวงอินโดจีนฝรั่งเศส ได้เดินทางไปติดต่อกัมพูชาอีกครั้งเพื่อให้กัมพูชาเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส ในสมัยนั้นกษัตริย์กัมพูชาคือพระนโรดม พระโอรสของพระองค์ด้วง ได้ตกลงใจทำสนธิสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 1863
หลังการลงนามสนธิสัญญา พระนโรดมได้ทำหนังสือถึงรัชกาลที่ 4 ว่าถูกฝรั่งเศสบังคับให้ทำสัญญา สยามได้พยายามรักษาสิทธิของตนเหนือกัมพูชาโดยทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา เมื่อ 1 ธันวาคม 1863 เพื่อยืนยันสิทธิของสยามเหนือกัมพูชา และพระนโรดมยินยอมลงนามในสนธิสัญญานี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อฝรั่งเศสทราบถึงการทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา ทางฝรั่งเศสได้เข้ามาคัดค้านและเจรจาเพื่อขอให้ยกเลิกสนธิสัญญา จนในที่สุดได้มีการลงนามสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม ปี 1867 โดยสยามประกาศสละการอ้างสิทธิใดๆ เหนือกัมพูชา โดยเสียมราฐและพระตะบองยังเป็นของสยาม