การพยายามทำการปฏิวัติในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 นับเป็นเหตุการณ์กบฏครั้งที่สอง (คำว่า การปฏิวัติ ที่นิยมใช้ทั่วไปนั้นที่ถูกต้องคือ การรัฐประหาร ซึ่งถ้าล้มเหลวจะมีสภาพเป็น ‘กบฏ’) ในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพันเอก มนูญ รูปขจร (ปัจจุบัน พลตรี มนูญกฤต รูปขจร) ผู้นำในการกบฏครั้งก่อนที่ถูกให้ออกจากราชการ (ดู กบฏเมษาฮาวาย) เป็นผู้นำการก่อการ ร่วมกับน้องชายนาวาอากาศโท มนัส รูปขจร ทั้งยังมีนายทหารนอกราชการชั้นผู้ใหญ่ อาทิ พลเอก เสริม ณ นคร, พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พลเอก ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รวมถึงพลเรือนที่เป็นผู้นำแรงงาน เช่น สวัสดิ์ ลูกโดด, ประทิน ธำรงจ้อย และเจ้าของแชร์ชาร์เตอร์ เอกยุทธ อัญชันบุตร ร่วมอยู่ในคณะผู้ก่อการด้วย โดยคณะปฏิวัติฉวยโอกาสที่นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ด้วย ไปราชการต่างประเทศ โดยในวันเกิดเหตุพลเอก เปรมอยู่ที่อินโดนีเซีย ส่วนพลเอก อาทิตย์อยู่ที่สวีเดน
การพยายามยึดอำนาจรัฐครั้งนั้นมีการปะทะกันกลางเมือง มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เป็นทหาร 2 ราย ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 2 ราย ประชาชน 1 ราย ได้รับบาดเจ็บประมาณ 60 ราย สุดท้ายฝ่ายก่อปฏิวัติพ่ายแพ้ และมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ 33 ราย ซึ่งภายหลังได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2531
ขณะที่การเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายปฏิวัติ รัฐบาลยอมให้พันเอก มนูญ เดินทางไปยังสิงคโปร์ ส่วนนาวาอากาศโท มนัส หลบหนีไปได้ โดยภายหลังทั้งคู่ได้ลี้ภัยไปเยอรมนีตะวันตก
อ้างอิง: