วันนี้เมื่อ 145 ปีที่แล้ว ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้ง ‘สภาที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน’ หรือ Counsil of State ขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2417 ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาจำนวน 12 คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาและความคิดเห็นต่างๆ ในด้านนิติบัญญัติ และเมื่อข้อราชการใดที่ประชุมสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมีมติเห็นชอบก็ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป เปรียบเสมือนคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบัน
สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็นสถาบันทางการเมืองที่ก่อตั้งตามพระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตต คือที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน จุลศักราช 1236 เพื่อสนับสนุนพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศตามแบบตะวันตก ถือเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปการเมืองการปกครองของประเทศไทย
สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน โดยที่ปรึกษาทั้ง 12 คนสามารถอยู่ในตำแหน่งนานตราบเท่าที่ทรงพอพระราชหฤทัย และผู้ที่จะดำรงตำแหน่งต้องทำพิธีสัตยานุสัตย์สาบานต่อหน้าพระพักตร์และถือน้ำพิพัฒน์สัตยา แล้วจึงจะได้รับพระราชทานตราตั้ง ผลงานสำคัญของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินคือการตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไทยที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2417 เพื่อกำหนดค่าตัวลูกทาสให้สูงสุดตอนเป็นเด็ก แล้วมีค่าตัวลดลงทุกปีจนหลุดพ้นเป็นไทได้จนหมดประเทศเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2448
ทั้งนี้ก็ถือได้ว่าสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเปรียบเหมือนสถาบันแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการด้านการร่างกฎหมายโดยเฉพาะ และให้คำปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดิน อันเป็นพื้นฐานในการจัดตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบัน
อ้างอิง: