กบฏยังเติร์ก หรือกบฏเมษาฮาวาย พยายามก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยกลุ่มผู้ก่อการส่วนใหญ่เป็นนายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือรุ่นยังเติร์ก ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังต่างๆ อยู่ในกองทัพบก
โดยผู้ก่อการเริ่มยึดอำนาจตั้งแต่เวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน 2524 ในระยะแรกได้ยึดสถานที่สำคัญๆ ไว้ได้ อาทิ กรมประชาสัมพันธ์ จนสามารถออกแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ข้าราชการไปรายงานตัวที่กองบัญชาการคณะปฏิวัติ ณ หอประชุมกองทัพบก และการประกาศยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521
ทว่าฝ่าย พล.อ. เปรม ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ ไปประทับที่ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจาก พล.ต. อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2
ในท้ายที่สุดรัฐบาลสามารถปราบปรามผู้ก่อการได้สำเร็จ ทำให้ผู้ก่อการต้องเดินทางออกนอกประเทศ เช่น พ.อ. มนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี ก่อนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้รับนิรโทษกรรมทางการเมือง และได้รับการคืนยศทางทหาร ในเวลาต่อมา ส่วน พล.ต. อาทิตย์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญคุมกำลังทหารต่อต้าน ได้รับความไว้ใจจาก พล.อ. เปรม เลื่อนเป็น พล.อ. อาทิตย์ แม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกใน 6 เดือนต่อมา