×

1 เมษายน 2448 – พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศเลิกทาสในประเทศไทย

โดย THE STANDARD TEAM
01.04.2021
  • LOADING...

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคที่ประเทศไทยมีพัฒนาการในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการคมนาคม การศึกษา สังคม และวัฒนธรรม

 

หนึ่งในพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งของพระองค์คือการเลิกทาสและการเลิกไพร่ อันเป็นการยกเลิกระบบที่คนชั้นสูงตั้งขึ้นเพื่อกดขี่ราษฎรให้ทำงานรับใช้หรือส่งทรัพย์สินให้ โดยไม่มีกำหนดว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

 

สมัยรัชกาลที่ 5 สยามได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในหลายๆ ด้าน การพัฒนาประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยชาติเป็นหนทางหนึ่งที่จะป้องกันภัยคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตกได้ 

 

พระองค์ทรงใช้พระปรีชาสามารถค่อยๆ ปรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับทาสและไพร่เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างราบรื่น

 

21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศ ‘พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย’ แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก

 

1 เมษายน พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ และ ‘พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124’ ถือเป็นการเลิกระบบทาสและระบบไพร่ในสยามประเทศ โดยในส่วนของทาสนั้น ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก ทำให้วันที่ 1 เมษายนเป็นที่รู้จักกันใน ‘วันเลิกทาส’ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising