ในวันที่ 22 ตุลาคม 1962 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ของสหรัฐฯ ได้แถลงผ่านทางโทรทัศน์ แจ้งชาวอเมริกันให้รับรู้ถึงสถานการณ์ของวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา โดยเผยแพร่ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศจากเครื่องบินสอดแนม U2 ซึ่งยืนยันว่ามีการก่อสร้างฐานยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางของสหภาพโซเวียตหลายแห่งในคิวบา และชี้ว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรง เนื่องจากคิวบาซึ่งเป็นประเทศเกาะนั้นอยู่ห่างจากรัฐฟลอริดาเพียงประมาณ 140 กิโลเมตร
โดยเคนเนดีได้เรียกที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดที่สุดของเขามาเพื่อพิจารณาทางเลือกและกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับสหรัฐฯ ที่จะแก้ไขวิกฤตดังกล่าว ก่อนจะตัดสินใจเลือกทางสายกลางและแถลงท่าที โดยประกาศกักกันทางเรือต่อคิวบา ซึ่งต่างจากการปิดล้อมที่ถือว่าอยู่ในภาวะสงคราม
ในวันเดียวกันนั้น เคนเนดียังได้ส่งจดหมายถึง นิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) นายกรัฐมนตรีสหภาพโซเวียต ประกาศว่าสหรัฐฯ จะไม่อนุญาตให้ส่งขีปนาวุธไปยังคิวบา และเรียกร้องให้โซเวียตรื้อถอนฐานขีปนาวุธที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือสร้างเสร็จแล้ว และให้คิวบาส่งคืนขีปนาวุธทั้งหมดให้กับสหภาพโซเวียต
จดหมายฉบับนี้ถือเป็นการสื่อสารฉบับแรกในชุดการสื่อสารทั้งทางตรงและทางอ้อมระหว่างทำเนียบขาวและเครมลินตลอดช่วงที่เหลือของวิกฤต ขณะที่ครุสชอฟได้เขียนจดหมายตอบเคนเนดีในวันที่ 24 ตุลาคม โดยปฏิเสธข้อเรียกร้องให้โซเวียตถอนขีปนาวุธ พร้อมยืนกรานว่าการติดตั้งครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อการป้องกันเท่านั้น
ขณะที่เคนเนดีได้เขียนจดหมายเตือนครุสชอฟอย่างตรงไปตรงมาว่า โซเวียตเป็นฝ่ายเริ่มวิกฤตด้วยการแอบส่งขีปนาวุธไปยังคิวบา ซึ่งครุสชอฟก็เขียนจดหมายตอบด้วยความไม่พอใจและกล่าวหาผู้นำสหรัฐฯ ว่าข่มขู่โซเวียต
ต่อมา ฟิเดล คาสโตร ผู้นำคิวบา ได้ส่งจดหมายถึงครุสชอฟ เรียกร้องให้โซเวียตเข้าโจมตีด้วยนิวเคลียร์ครั้งแรกต่อสหรัฐฯ แต่ครุสชอฟไม่สนใจ และได้ส่งจดหมายไปถึงเคนเนดี ขอให้สหรัฐฯ ร่วมมือกับเขาเพื่อลดความขัดแย้ง และรับประกันว่าจะไม่ทำลายล้างโลกด้วยหายนะของสงครามนิวเคลียร์
สถานการณ์ตึงเครียดที่เริ่มทวีความรุนแรงจนยากจะควบคุม ทำให้ครุสชอฟส่งจดหมายอีกฉบับถึงเคนเนดี พร้อมเสนอข้อตกลง โดยยินยอมถอนขีปนาวุธจากคิวบา แลกกับการให้สหรัฐฯ ถอนขีปนาวุธนิวเคลียร์จูปิเตอร์ (Jupiter) ออกจากตุรกี ซึ่งเคนเนดีตอบรับ พร้อมทั้งให้สัญญาว่าจะไม่โจมตีคิวบาหลังจากที่โซเวียตถอนตัว
ท้ายที่สุดในวันที่ 28 ตุลาคม ครุสชอฟยอมรับข้อตกลง โดยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงเคนเนดีบอกว่า ขีปนาวุธของโซเวียตจะถูกรื้อถอนออกจากคิวบา ผ่านการตรวจสอบจากองค์การสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดวิกฤตการณ์ โดยมาตรการกักกันของกองทัพเรือสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายนปีเดียวกัน ก่อนที่สหรัฐฯ จะถอนเรือรบออกไป
ภาพ: Getty Images