×

22 พฤษภาคม 2557 – คสช. รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดย THE STANDARD TEAM
22.05.2021
  • LOADING...
คสช. รัฐประหาร

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จนทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แทน

 

รัฐประหารโดย คสช. นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย เกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมือง ซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ

 

ก่อนหน้านั้นสองวันคือ วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 03.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งขึ้น กอ.รส. ใช้วิธีการปิดควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ

 

วันที่ 21-22 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) เรียกประชุมผู้แทนรัฐบาล, วุฒิสภา, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, นปช. และ กปปส. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อหาข้อสรุปในการก้าวผ่านวิกฤตการณ์ทางการเมือง แต่ไม่อาจหาข้อสรุปได้ พล.อ. ประยุทธ์ และผู้บัญชาการเหล่าทัพ จึงประกาศกระทำรัฐประหารในที่ประชุมและควบคุมตัวผู้เข้าร่วมประชุม ยกเว้นตัวแทนวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนำตัวไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งใช้เป็นกองบัญชาการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

คสช. ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 16.30 น. หลังรัฐประหารมีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา วันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภามีมติเลือก พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

 

22 พฤษภาคม 2564 ครบ 7 ปีการยึดอำนาจโดย คสช. สังคมไทยยังอยู่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนเดิมคือ พล.อ. ประยุทธ์ แม้การกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 จะพูดได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจัดการเลือกตั้ง แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ส.ว. แต่งตั้ง 250 คนซึ่งมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ กลับมาได้อีกครั้ง และตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ส.ว. แต่งตั้งมีวาระร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ถึง 5 ปี เท่ากับมีโอกาสร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างน้อยถึง 2 ครั้ง 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X