ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 เกิดการรัฐประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อนแปรสภาพมาเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะ เพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร
โดยการรัฐประหารครั้งนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ปราศจากการต่อต้านด้วยอาวุธ หลังประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงขับไล่ทักษิณออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนเกิดเป็นภาพที่ประชาชนมอบดอกไม้ให้กับทหารท่ามกลางรถถัง สร้างความประหลาดใจไปทั่วโลก โดยนิตยสาร Time ฉบับออนไลน์พาดหัวข่าวว่า ‘รัฐประหารอันครื้นเครงในประเทศไทย’ (A Festive Coup in Thailand)
อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์รัฐประหารก็มีการต่อต้านจากหลายฝ่าย อาทิ การประท้วงที่ลานหน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และจัดเสวนาในหัวข้อ ‘ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร’
รวมถึงคนขับแท็กซี่ นวมทอง ไพรวัลย์ ขับรถพุ่งชนรถถังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อประท้วงคณะรัฐประหาร ต่อมานวมทองได้ผูกคอตายประท้วงเสียชีวิตในวันที่ 31 ตุลาคม 2549
กล่าวเฉพาะ พล.อ.สนธิ ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้ก่อรัฐประหารเองกลับเป็นคนที่เลือนหายไปจากสนามการเมือง
เรียกได้ว่าบนหน้าสื่อในการเมืองไทยวันนี้ พล.อ. สนธิ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่วัย 75 ปีในเดือนหน้า อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ผู้เป็นเตรียมทหาร รุ่น 6 (ตท.6) รุ่นเดียวกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่อยู่ในพื้นที่ข่าวต่อเนื่องทุกสัปดาห์ หรือแทบจะต่อเนื่องทุกชั่วโมงในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่ตรงกันข้าม พล.อ. สนธิ นอกจากการได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่ 8 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 แล้ว พล.อ. สนธิ ก็แทบไม่มีบทบาททางการเมืองใดๆ อีกเลย
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการแบ่งขั้วสีทางการเมือง ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างร้าวลึกจนถึงปัจจุบัน