‘นกเงือก’ ได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของรักแท้ เพราะใช้ชีวิตคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวจนกว่าจะตายจาก โดยตัวผู้มีวิสัยเป็นผู้นำ ดูแลลูกเมีย หาอาหารมาป้อนถึงรังในระหว่างฤดูวางไข่ ดังนั้นหากตัวผู้เป็นอะไรไปในช่วงนี้ แม่นกและลูกนกที่รอคอยอาหารจากหัวหน้าครอบครัวก็อาจจะต้องตายตามไปในไม่ช้า ด้วยไม่อาจออกมาหาอาหารกินเองได้
และนี่เองคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชากรนกเงือกลดน้อยลงเรื่อยๆ จนเสี่ยงจะสูญพันธุ์ ทั้งๆ ที่ตามธรรมชาติแล้วนกเงือกอาจมีอายุขัยยาวนานได้ถึง 30 ปี
ไม่เพียงเท่านั้น นกเงือกยังเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า มีความสำคัญต่อระบบนิเวศป่าอย่างมาก เพราะเป็นตัวช่วยกระจายพันธุ์ไม้ได้ดีแบบที่นกเล็กๆ ไม่สามารถทำได้เท่า เพราะนกเงือกบินหาอาหารไปทั่ว โดยจะเลือกกินผลไม้สุกทั้งเล็กใหญ่ และกินได้มากกว่า 300 ชนิด มันจะกินทั้งผลแล้วขย้อนเมล็ดออกมาไปตกตรงนั้นตรงนี้ นำไปสู่การแพร่พันธุ์ไม้ในป่าอย่างมีนัยสำคัญ
นกเงือกยังเป็นผู้ล่า ทำให้ระบบนิเวศป่าสมดุล เพราะช่วยคุมประชากรสัตว์เล็กๆ เช่น แมลงและหนู
เมื่อนกเงือกสัมพันธ์กับป่าถึงเพียงนี้ หากป่าเปลี่ยนไปย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตนกเงือก เช่นเดียวกัน หากนกเงือกค่อยๆ หายไป ก็ย่อมส่งผลต่อความหลากหลายในป่าและสัตว์อีกหลายชีวิต
ด้วยเหตุนี้เอง มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงกำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันรักนกเงือก เชิญชวนให้ผู้คนรำลึกและตระหนักถึงความสำคัญของนกเงือกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547
อ้างอิง: